จองได้ทุกที่สะดวกทุกเวลา จริงเหรอ ? เมื่อต้องรอคิวทำใบขับขี่ใหม่นานถึง 4 เดือน สำหรับคนที่จะทำใบขับขี่ใหม่ รู้กันหรือเปล่าว่าคิวการสอบขออนุญาตใบขับขี่ของปีนี้เต็มยาวเหยียดไปถึงปลายเดือนมีนาคม 2564 กันแล้ว เรียกได้ว่าจองกันจนลืมไปเลย
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอบใบขับขี่
ต้นเหตุการรอคิวอันแสนนานมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาครัฐจึงออกมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมเลย ทำให้ต้องกำหนดจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละวันของกรมขนส่ง ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำใบขับขี่ใหม่ที่ใช้ระบบออนไลน์เกือบทั้งหมด โดยต้องทำการจองคิวล่วงหน้าเพื่อรับบริการจากกรมขนส่งผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์เท่านั้น และไม่สามารถทำการ walk-in เข้าไปต่อคิวตั้งแต่เช้าตรู่ เหมือนแต่ก่อนแล้ว
ซึ่งระบบจองคิวมีข้อดีในด้านการจำกัดจำนวนคนเข้าใช้งานให้สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ในแต่ละวันได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และเอื้อประโยชน์ต่อผู้ใช้งานให้สะดวกสบายและน่าใช้งานมากขึ้น
เมื่อเราลองใช้งาน DLT Smart Queue
เราได้ทดลองใช้แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue เพื่อสำรวจดูว่าถ้าสมมุติเราจะจองคิวเพื่อขอรับใบอณุญาตขับขี่ใหม่ต้องรอนานแค่ไหน ว่าพบว่าสำนักงานขนส่งทั้ง 5 เขตของกรุงเทพมหานคร อย่างบางขุนเทียน ตลิ่งชัน พระโขนง หนองจอก จตุจักร ทั้งหมดล้วนเต็มยาวไปถึงปลายเดือนมีนาคม 2564 โดยวันที่สามารถจองได้คือหลังวันที่ 22 เป็นต้นไป (สำรวจ ณ วันที่ 21 พศจิกายน 2563)
การจองคิวรูปแบบใหม่ลดจำนวนผู้เข้าสอบในแต่ละวัน รวมถึงการลดจำนวนวันอบรมให้เหลือเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ โดยเหลือเพียง จันทร์ พุธ ศุกร์ จากเดิมที่สามารถไปสอบได้ในวันเวลาราชการ ทำให้คนที่ต้องการสอบขอรับใบอณุญาตขับขี่ ต้องแย่งกันจองคิวเพื่อทำใบอณุญาตกลายเป็นปัญหาคอขวด เพราะมีคนรอสอบใบอนุญาตขับขี่จำนวนมาก
อีกหนึ่งเรื่องที่พบเห็นคือระบบการจองที่เราไม่สามารถเลือกวันขอใบอนุญาตได้อย่างอิสระ เพราะต้องรอคิวของเดือนก่อนหน้าเต็มก่อนจึงสามารถจองคิวเดือนถัดๆ ไปได้ เช่น ถ้าอยากจะจองคิวทำใบขับขี่เดือนเมษายน แต่ต้องรอรอบของเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคมเต็มก่อนตามลำดับ
บทสัมภาษณ์ผู้ใช้งานจริง
เราได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้ใช้งานแอพ DLT Smart Queue ในการจองคิวขออนุญาติสอบใบขับขี่ทั้งหมด 2 คนด้วยกัน ผู้ให้สัมภาษณ์คนแรกเป็นนักศึกษาจบใหม่ที่ขับรถบนท้องถนนโดยไม่มีใบขับขี่มาเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน เขาให้ความคิดเห็นกับการเปลี่ยนแปลงระบบใหม่ว่า “ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องลำบากในการไปแย่งคิวที่ขนส่งในตอนเช้า แต่กลับเป็นระบบที่ใช้ระยะเวลานานในการจองคิวนานกว่าเดิม” โดยเขาพึ่งได้คิวไปสอบใบอนุญาตในเดือนธันวาคมนี้ เขาจึงเลือกยอมรับความเสี่ยงในการขับรถบนท้องถนน ด้วยความผิดข้อหาไม่มีใบอนุญาตขับขี่มาโดยตลอดด้วยเหตุเพราะความจำเป็นในการใช้งาน
ผู้ให้สัมภาษณ์คนที่ 2 เป็นชายหนุ่มวัยทำงานที่ใบขับขี่หมดอายุมานานร่วมปี “ใบขับขี่ผมหมดอายุมานานเป็นปีแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังต้องขับรถไปทำงานทุกๆ วัน” เพราะรอคิวไปต่ออายุใบขับขี่อยู่ ซึ่งเขาเริ่มลงทะเบียนจองคิวตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2563 แต่กลับได้คิวไปต่ออายุใบขับขี่ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 เลยทีเดียว ทั้งยังให้ความเห็นกับเราว่า จำนวนรอบและวันเปิดทำการสอบใบขับขี่นั้นไม่สอดคล้อง กับจำนวนผู้ใช้รถใช้ถนนของคนกรุงเทพฯ ถึงแม้จะว่าจะมีมาตราการเยียวยาสำหรับผู้ที่ใบขับขี่หมดอายุ แต่กว่าจะไปต่ออายุก็ต้องใช้เวลาขั้นตอนในการจองคิวนานถึง 3 – 4 เดือน
เมื่อจองได้ทุกที่แต่อาจจะไม่สะดวกทุกเวลา
จากบทสัมภาษณ์สั้นๆ กลับทำให้เราเห็นถึงปัญหาใหญ่ๆ ที่น่าสนใจเริ่มจากถ้าเราย้อนกลับไปดูสโลแกนของแคมเปญนี้ที่มีชื่อว่า ‘จองได้ทุกที่สะดวกทุกเวลา’ เราจะพบว่าสโลกแกนดังกล่าวมีส่วนจริงครึ่งและไม่จริงอีกครึ่งหนึ่งส่วนที่จริงคือจองได้ทุกที่จริง แต่ไม่ได้สะดวกทุกเวลาเหมือนที่กล่าว เพราะต้องใช้เวลาในการจองนานและไม่สามารถเลือกวันจองได้แบบอิสระ ทำให้เกิดกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องใช้รถบนท้องถนนตัดสินใจสตาร์ทรถและขับออกไปโลดแล่น มากกว่าความที่กลัวจะถูกจับในข้อหาไม่มีใบขับขี่
และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาในการจองรูปแบบใหม่ เราไม่รู้เลยว่าบนท้องถนนที่มีรถวิ่งอยู่มากมายนั้นมีจำนวนคนที่ยังไม่มีใบขับขี่อยู่ทั้งหมดกี่คน และมีอีกกี่คนที่ใบขับขี่หมดอายุนานนับปี อีกจำนวนเท่าไหร่ แต่ที่เรารู้แล้วแน่ๆ คือรูปแบบการจองคิวใหม่ยังคงต้องพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนความต้องการของประชากรในเมืองให้มากขึ้น
Source : https://gecc.dlt.go.th:4447/web_booking/page/
https://www.thebangkokinsight.com/375475/