เจ้าขุนทอง ตำนานรายการเด็กเพื่อเด็กไทย - Urban Creature

“อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน ออกหากินร่าเริงแจ่มใส เราเบิกบานรีบมาเร็วไว ยิ้มรับวันใหม่ยิ้มให้แก่กัน”

ท่วงทำนองคุ้นหูของรายการ เจ้าขุนทอง รายการเด็กที่ครองใจผู้ชมมายาวนานร่วม 30 ปี เป็นเหมือนเสียงนาฬิกาปลุกของเหล่าเด็กน้อยให้ตื่นขึ้นมาเติมพลังความสดใส พร้อมรับสาระความรู้ และความสนุกไปกับผองเพื่อนหุ่นมือสารพัดสัตว์ก่อนออกจากบ้านไปโรงเรียน

แม้ในวันนี้เจ้าขุนทองจะโบกปีกลาหน้าจอโทรทัศน์ไปแล้วก็ตาม แต่ ครูอ้าว-เกียรติสุดา ภิรมย์ ผู้ปลุกปั้นรายการเด็กระดับตำนานก็ยังคงยืนหยัดขับขาน และผลิตสิ่งที่งดงาม เพื่อ ‘เด็ก’ และ ‘สังคมไทย’ อย่างไม่หยุดหย่อน

ครูอ้าว-เกียรติสุดา ภิรมย์ ผู้ก่อตั้งรายการเจ้าขุนทอง

อรุณเบิกฟ้า

ครูอ้าว : จุดเริ่มต้นของรายการมาจาก คุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้บริหารช่อง 7 สี ในตอนนั้น มีนโยบายให้ช่องออกอากาศ 24 ชั่วโมง คุณแดงเล็งเห็นถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยของเด็ก เลยอยากให้มีรายการเด็กในอยู่ช่วงเช้า ซึ่งเราเองก็ผ่านประสบการณ์การแสดงละครมา เล่นหุ่นมือมา พากย์เสียงมา ก็เกิดความสนใจ และมองว่าในตอนนั้น ยังไม่ค่อยมีคนทำรายการเด็กด้วย เราเลยไปคุยกับคุณแดงว่า เราอยากทำเป็นหุ่นมือนะ เพราะมันไม่มีวันตาย ไม่มีวันแก่

เจ้าขุนทอง

คุณแดงเองก็คิดว่า ต้องมีตัวละครที่สื่อถึงการใช้ภาษา เลยได้ ‘นกขุนทอง’ มาเป็นตัวละครสัตว์ตัวแรก เพราะมันเป็นนกที่เลียนเสียงคนพูดได้ และกลายเป็นชื่อรายการนับแต่นั้นมา พอได้เจ้าขุนทองมาเป็นสัญลักษณ์แล้ว ก็มีสัตว์ตัวอื่นตามมา อย่างควาย เต่า สุนัข จระเข้ ฯลฯ ซึ่งการที่เราสร้างตัวละครเป็นสัตว์ขึ้นมาเนี่ย เด็กจะได้ใกล้ชิด และมีจิตใจอ่อนโยนกับสัตว์ด้วย เพราะเด็กบางคนไม่มีโอกาสได้เลี้ยงหรือดูแลสัตว์

รายการออนแอร์เทปแรกในเช้าวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนจดจำ คือเพลง ‘อรุณเบิกฟ้า’ เราแต่งแบบง่าย ๆ จากความรู้สึกด้วยการดูธรรมชาติของนกขุนทองที่ออกหากินตอนเช้า ก็เหมือนกับเด็ก ๆ ที่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียน เราอยากให้เด็กตื่นมาแล้วอารมณ์ดี ไม่อยากให้ร้องไห้งอแง จะได้เรียน และเจอเพื่อได้อย่างมีความสุข นี่เป็นสิ่งที่เราใส่ไว้ในเพลง ซึ่งในแต่ละวรรคก็มีความหมายของมัน

จำลองสังคม สังคมจำลอง

ครูอ้าว : วิธีคิดคาแรกเตอร์หุ่นแต่ละตัว เราจำลองจากสังคมจริง คือในสังคมจะมีความหลากหลาย มีคนแก่ ชาย หญิง เด็กเล็ก เด็กโต พอเป็นรายการเด็ก เราไม่สามารถทำตัวร้ายให้ดาร์กได้ขนาดนั้น แต่จะทำให้ร้ายแบบน่ารัก เหมือนกับเด็กในสังคมที่อาจมีเกเรบ้าง แต่นั่นเป็นธรรมชาติของเด็ก ซึ่งเราก็ต้องสร้างเรื่องราว สร้างนิทาน และให้บทเรียนแก่พวกเขา

ถ้าเป็นตัวร้ายที่สุดในรายการ คงต้องยกให้ ‘ขอนลอย’ เขาเป็นจระเข้ที่กินจุมาก จนบางทีก็ป้ำเป๋อ เพราะความเห็นแก่กินมากเกินไป หรืออย่าง ‘เหยิน’ ก็เป็นหนูที่ชอบคุยโวโอ้อวด กร่าง โกงนิด ๆ รวมถึง ‘ย่น’ สุนัขนักเลง ชอบบูลลี่ ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาในสังคมมาตั้งแต่ยุคนั้นจนถึงตอนนี้

ตัวที่เราภูมิใจมากคือ ‘ฉงน’ เป็นควายแสนซื่อ ใฝ่รู้ ควายเป็นสัตว์น่ารัก ถ้าใครบอกว่าเขาโง่นี่ไม่จริงเลย แม้ว่าเขาจะทำงานรับใช้เรามานานมาก แต่ควายเป็นสัตว์ที่ถูกลืม เราก็อยากให้เด็กได้รู้สึกใกล้ชิดกับสัตว์เหล่านี้ ตัวต่อมาเป็น ‘ลุงมะตูม’ เป็นเต่าที่เป็นตัวแทนของคนที่มีความรู้ คอยทำหน้าที่ให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ และ ‘หางดาบ’ เป็นหมาบ้าน ๆ ที่ผูกพันกับคนไทยมานาน เป็นฮีโร่ของรายการเลยก็ว่าได้ เพราะเขาจะชอบช่วยเหลือคนอื่น เสียสละ เป็นพระเอกมาก

ขอนลอย
ฉงน
หางดาบ

ขับขาน ส่งภาษา

ครูอ้าว : แรกเริ่มเราทำในห้องส่งของช่องเลย ฝ่ายเทคนิคเป็นคนของช่อง ส่วนฝ่ายศิลปกรรม ฝ่ายแอคติ้ง บททั้งหลายเป็นส่วนของเรา ก็มีทีมงานเยอะประมาณหนึ่งเลย แต่ตอนนี้เหลือประมาณ 7-8 คน ทำทั้งพากย์ ทั้งเชิดในคนเดียวกัน และยังได้ ผาล ภิรมย์ ลูกชายที่มาช่วยในเรื่องไอเดียใหม่ ๆ เมื่อก่อนมีฉากจำลองเป็นป่า เป็นหมู่บ้าน แต่ตอนนี้เราก็ปรับมาเป็นกราฟิกแทนเพื่อประหยัดพื้นที่

ผาล ภิรมย์ ลูกชายของครูอ้าว

ความยากในการทำรายการเด็ก คือการหาคนมาสนับสนุน มีหลายคนที่อยากทำรายการเด็ก และมีความตั้งใจดีเยอะแยะเลย แต่ว่าเขาไม่สามารถทำด้วยตัวคนเดียวได้ ต้องมีทีมงานที่เหมาะสม รวมถึงช่องที่ต้องเปิดโอกาส ซึ่งในตอนนี้ก็มีกองทุนต่าง ๆ ที่เห็นความสำคัญ เราก็ดีใจที่มันมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

กระแสตอบรับจากคนดูในตอนนั้นดีมาก สมัยก่อนจะมีจดหมาย เป็นถุงใหญ่ ๆ สามถุงในวันเดียวกัน ซึ่งเราเปิดให้ส่งเรื่องเล่าถึงสิ่งที่ภาคภูมิใจในจังหวัดตัวเองมา ก็มีเด็กแม่ฮ่องสอนคนหนึ่งส่งจดหมายเล่าเรื่องวิธีการทำถั่วเน่า แถมยังวาดรูปมาด้วย น่ารักมาก เป็นสิ่งที่เราอบอุ่นใจมาก แล้วยังมีคุณครูเขียนจดหมายมาบอกว่า เขาใช้รายการเราสอนเด็กด้วยการให้ดูเจ้าขุนทอง แล้วตอนเช้าครูจะมีคำถามเกี่ยวกับภาษาไทย หรือเรื่องราวนิทานต่าง ๆ มาถามแล้วให้อธิบาย

ส่วนปัญหาการใช้ภาษาไทยของเด็กในตอนนี้มันก็หนักขึ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างคำว่าคะกับค่ะ เราพยายามสื่อสารออกไปตลอด อีกอย่างคือ ในยุคนี้มันมีภาษาสื่อออนไลน์เข้ามา ทำให้เขาเลียนแบบในสิ่งที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นไม่มีกาลเทศะ จริง ๆ เราเองก็ใช้ อย่างคำว่าเดี๋ยวกับเด๋ว เหล่านี้ถือเป็นวิวัฒนาการของภาษา ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ถ้าเราต้องจริงจังก็ต้องใช้ให้ถูก และคอยเตือนคนอื่นให้รู้ถึงความสำคัญของภาษาที่ถูกต้อง

บ้างเล่น บ้างร้อง

ครูอ้าว : เจ้าขุนทองในวันนี้ไม่มีในผังช่อง 7 แล้ว แต่เราเสนอโครงการต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ ชื่อรายการว่า ‘ฉงน ฉงาย สองควายช่างสงสัย’ ที่เราใช้ชื่อ ‘ช่างสงสัย’ ก็เพราะทุกสิ่งในโลกนี้มีคำถามหมด ซึ่งรายการนี้ควายสองพี่น้องเขาเป็นตัวเอก รูปแบบจะคล้ายของเดิม คือเน้นเรื่องภาษาไทยและวิถีชีวิตคนไทย ส่วนจะออกอากาศเมื่อไรยังไม่รู้ ต้องคอยติดตามกัน

นอกจากนี้ คณะหุ่นเจ้าขุนทองก็มีโอกาสไปออกตามงานบ้าง เราได้ไปเล่นละครร่วมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษจาก ‘มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม’ และครอบครัวของเขา แล้วก็มีไปเล่นในเทศกาลหุ่นโลก ร่วมกับ ‘คณะหุ่นสายเสมา’ รวมถึงร่วมมือกับรุ่นน้องที่เขาสนใจเรื่องสัตว์ป่าที่ตายจากการถูกล่า ด้วยการสร้าง ‘คณะหุ่นโตโต้การบันเทิง’ ขึ้นมา เพื่อที่จะได้เล่นหุ่นตามที่ต่าง ๆ แล้วให้เด็กรอบ ๆ ป่าได้ดู เพราะเรามองว่า คนที่จะช่วยรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม ไม่มีใครดีไปกว่าคนที่อยู่บริเวณนั้น เมื่อเด็กเหล่านั้นโตขึ้นมาก็จะได้เรียนรู้ว่าป่ามีความสำคัญอย่างไร

มีคนถามบ่อยว่า พอใจในผลงานไหม เราบอกว่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่เราคิดว่าเรายังทำอะไรให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก คือตอนนี้เราก็แก่มากแล้วนะ แต่เราจะทำไปเรื่อย ๆ เท่าที่เราทำได้ ทำหุ่นมือจากเศษผ้าและฟองน้ำนี่แหละ คงความเป็นหุ่นตุ๊กตาเอาไว้ สิ่งเหล่านี้มันมีชีวิตได้ เราอยากให้เด็กรู้ว่า เขาก็ทำของง่าย ๆ สร้างเสริมจินตนาการเองได้เหมือนกัน

“เรามีความสุขที่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ พอได้มาอยู่ในวงการรายการเด็ก กลายเป็นว่าเราต้องนึกถึงเด็กและสังคมก่อนเสมอ”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.