ช่วงสัปดาห์นี้คงไม่มีเรื่องไหนร้อนแรงไปกว่ากระแสการย้ายประเทศ จากกลุ่มเฟซบุ๊กเล็กๆ ที่โตแบบพุ่งกระฉูดอย่างกลุ่ม ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงนั่นคือ แนวคิดการย้ายที่อยู่ของหนุ่มสาวในวัยสร้างตัวแบบนี้ หากเกิดขึ้นจริงๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ภาวะสมองไหล (Brain Drain) ซึ่งจริงๆ แล้วภาวะแบบนี้เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก เมื่อคนในประเทศเริ่มหาทางออกเพื่ออนาคตที่สดใสกว่านั่นเอง
โลกเริ่มรู้จักภาวะสมองไหล
คำว่า Brain Drain ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกในปี 1963 โดยราชสมาคม (Royal Society) ซึ่งเป็นสมาคมนักปราชญ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1660 โดยพระบรมราชานุญาตพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ
คำคำนี้ถูกคิดขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์การเคลื่อนย้ายของแรงงานทักษะสูง อาทิ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ โดยข้อมูลระบุว่า สภาวะสมองไหลครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อแรงงานทักษะสูงจากยุโรปต่างเก็บกระเป๋าไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในประเทศผู้ชนะสงครามอย่างสหรัฐอเมริกา
สำหรับกรณีนี้ เราอยากหยิบเคสของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ ประเทศหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิก ที่กำลังเผชิญหน้ากับการขาดแคลนแรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในประเทศ จากภาวะสมองไหล เกิดอะไรขึ้นที่นั่น แล้วคนหนุ่มสาวเหล่านั้นทำไมเลือกทิ้งบ้านเกิดไป
จุดเริ่มต้นการโยกย้าย
ย้อนกลับไปทศวรรษ 70 ช่วงการปกครองของผู้นำจอมเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ระหว่างปี 1965 – 1986 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่ฟิลิปปินส์เริ่มมีกระแสสมองไหลจากการออกไปทำงานต่างประเทศของกลุ่มแรงงานทักษะสูงอย่างแพทย์ ครู วิศวกร เป็นต้น ต่อมาในทศวรรษที่ 80 จากแรงงานทักษะสูง เริ่มขยับลงที่แรงงานระดับกลางอย่างพยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ กระทั่งเข้าสู่ช่วงยุค 90 ที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารรุ่งเรือง อาชีพอย่างนักสารสนเทศ วิศวกรคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ก็ตามไปติดๆ
จากงานวิจัย Skilled Labour Migration from Developing Country: Study on the Philipines ระบุว่าช่วงกลางทศวรรษ 70 ช่วงเดียวกันกับที่ฟิลิปปินส์เผชิญกับภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์น้ำมันปี 1973 ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางเริ่มมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 1975 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ออกมาสนับสนุนส่งออกแรงงานผ่านโครงการต่างๆ จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 36,035 คน ต่อมาในปี 1980 ตัวเลขกระโดดอย่างน่าตกใจเป็น 214,950 คน และเพิ่มขึ้นอีกราว 791,000 คนในช่วงปี 1998 โดยชาวฟิลิปปินส์ที่เคลื่อนย้ายออกไปทำงานต่างประเทศ จะรู้จักกันในชื่อ Overseas Filipino Workers (OFWs)
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่พากันออกไปทำงานต่างประเทศ คือ 1. ภาวะทางเศรษฐกิจ 2. อัตราการว่างงานที่ค่อนข้างสูง 3. ปัญหาภาวะความยากจน 4. ค่านิยมการไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะการชักชวนจากเครือญาติที่ไปก่อนแล้ว ส่งผลให้อัตราการโยกย้ายของประชากรฟิลิปปินส์ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว
หมอ พยาบาล แรงงานที่โลกต้องการ
หนึ่งในอาชีพส่งออกที่มีชื่อเสียงของฟิลิปปินส์นั่นคือ หมอและพยาบาลวิชาชีพ จนได้รับขนานนามว่าเป็นประเทศที่ส่งออกอาชีพนี้มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนด้วย จากผลการสำรวจระบุว่า ในช่วงปี 2012 ถึง 2016 มีพยาบาลวิชาชีพจบออกมาเฉลี่ยปีละ 26,000 คน ทว่าออกไปทำงานต่างประเทศมากถึง 18,500 คนทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนแรงงานในประเทศอย่างรุนแรง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานเหล่านี้ย้ายไป คือเรื่องผลตอบแทนในเชิงรายได้ที่ไม่สมเหตุสมผลกับค่าครองชีพและชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ยกตัวอย่างพยาบาลในเมือง Davao ได้ค่าจ้างเพียง 30,000 เปโซฯ หรือราว 23,415 บาท น้อยกว่าค่าจ้างที่แคนาดาถึง 5 เท่า แม้กระทั่งการทำงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชน รายได้ยังอยู่ที่ราวๆ 25,000 เปโซฯ หรือ 15,391 บาท หากไปประจำการในจังหวัดห่างไกล ค่าจ้างต่อเดือนอาจเหลือเพียง 3,000 ถึง 6,000 เปโซฯ หรือราวๆ 3,899 บาทเท่านั้น
ขณะเดียวกันเวลาการทำงานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ เพราะหมอและพยาบาลบางคนต้องทำงานกว่า 12 ชั่วโมง ในบางรายอาจมากถึง 24 ชั่วโมง สิ่งเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกท้อแท้จนต้องตัดสินใจ ย้าย!
แต่การโยกย้ายอาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป แม้ส่งออกบุคลากรได้จำนวนมากตามที่รัฐบาลเคยตั้งใจไว้ ซึ่งเห็นผลในปัจจุบันตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประเทศฟิลิปปินส์มีอัตราการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีอัตราส่วนอยู่ที่ 6 : 10,000 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียน และอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในแต่ละปีนั้นก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
เสี่ยงหาหนทางเอาตัวรอด สุดท้ายกลายเป็นวีรบุรุษ
ปัจจุบันคาดว่ามีแรงงานชาวฟิลิปปินส์กระจายทั่วโลกเกินกว่า 10 ล้านคน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแรงงานฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษ ส่งผลให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีรายได้จากการส่งเงินเข้าประเทศของกลุ่มแรงงานเหล่านี้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คาดว่ามีรายได้จากเม็ดเงินที่โอนเข้าสู่ประเทศมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนครั้งหนึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ยกย่องแรงงานเหล่านี้ว่าเป็น ‘วีรบุรุษ’
ทว่าข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ การย้ายออกไปทำงานต่างประเทศของหนุ่มสาวชาวฟิลิปปินส์ได้กลายเป็นความฝันเบอร์ต้นๆ หากคุณอยากมีชีวิตที่ดี เลี้ยงปากท้องครอบครัวที่เหลือได้ การออกมาแสวงหาโชคดูจะกลายเป็นคำตอบเดียวที่หลายคนตัดสินใจ
แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีความพยายามในการดึงดูดแรงงานจบใหม่ให้ทำงานในประเทศมากขึ้นแต่ดูเหมือนว่าปัญหาสมองไหลของฟิลิปปินส์ยังไม่จบลงง่ายๆ หากเงื่อนไขในการดำรงชีพยังคงไม่สัมพันธ์กับรายได้ อย่างกรณีของแพทย์ พยาบาล นี่คือตัวอย่างที่พอจะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจให้ย้อนกลับมามองประเทศไทย
ย้อนมองประเทศไทย กับความหวังที่ริบหรี่
ย้อนกลับมามองยังประเทศไทย กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์อย่างกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย’ ที่มีจำนวนสมาชิกกว่า 8 แสนคน หรือตอนที่กำลังอ่านบทความนี้จำนวนอาจพุ่งไปไกลแล้วก็ได้ เล่นเอาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนพากันตระหนกตกใจกันเป็นอย่างมาก ซึ่ง รศ. ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร รองคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“การมีโซเชียลมีเดียทำให้รู้ว่าคนที่คิดเหมือนกันมีนับแสน ไม่ใช่แค่กับเพื่อนหรือญาติพี่น้องไม่กี่คนเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ หนึ่ง ความไม่มั่นคงของชีวิตอย่างเรื่องการเมืองและอนาคตที่ประชาชนไม่สามารถเลือกเองได้ และสอง ความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ และการรับมือกับโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดการเรื่องวัคซีน มันตกต่ำไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย”
จากข้อมูลของกรมการกงสุล พ.ศ. 2560 ระบุว่า มีคนไทยอาศัยอยู่ในต่างประเทศราว 1.1 ล้านคน ส่งเงินกลับมาราวหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี และถึงแม้ตัวเลขของสภาวะสมองไหลของไทยจะยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ทว่าท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจภายใต้การบริหารงานของอดีต คสช. ความอัดอั้นที่สั่งสม โอกาสที่เราจะเห็นการย้ายถิ่นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ไทยมีจำนวนพุ่งสูงขึ้นคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างแน่นอน อย่างน้อยๆ กระแสบนโซเชียลมีเดียครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณให้เหล่าผู้บริหารประเทศกลับมาทบทวนได้บ้างไม่มากก็น้อย
Sources :
BBC NEWS| https://bbc.in/3b3KY7D
Blockdit | https://bit.ly/3nWf0ja, https://bit.ly/3b3fD4Z
ILO | https://bit.ly/2QXstLt
NCBI | https://bit.ly/2PQgQFv
ResearchGate | https://bit.ly/3xN2Du2
Thairath | https://bit.ly/3vHCnzr
The Japan Times | https://bit.ly/3xPKaNq