โรงพยาบาลคงไม่ใช่สถานที่ที่คนอยากแวะเวียนเข้าไปถ้าไม่มีเหตุจำเป็น เพราะเป็นสถานที่ที่ไม่ชุบชูใจ เป็นสถานที่สำหรับคนป่วย บ้างก็วุ่นวายแออัด จะเดินไปไหนหลงทางเกะกะเจ้าหน้าที่ ยิ่งถ้าไม่ใช่ผู้ป่วยแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหน สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น นำมาคิดหาคำตอบ เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็น ‘โรงพยาบ้าน’ จนได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น Silver Award ประจำปี 2563 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
รพ.ราชพฤกษ์ มีส่วนประกอบต่างๆ ที่ทำให้เรานึกถึงบ้าน ทั้งยังเอื้อต่อการเยียวยาผู้ป่วยในมิติต่างๆ เช่น สวน ที่เป็นธรรมชาติบำบัด โดยเน้นเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบๆ อาคารและสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ไว้ใจกลางอาคาร เพื่อสร้างความร่มเย็นกายใจให้ผู้ใช้ ต่อมาคือ ห้องพระ สำหรับจิตวิญญาณบำบัด ที่มีพื้นที่สำหรับปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาไว้หลากหลาย เช่น ห้องละหมาด ห้องคริสต์ ห้องพระ และยังมีรูปเคารพและข้อคิดไว้สร้างพลังใจให้ผู้ป่วยและบุคลากรอีกด้วย
อีกที่คือห้องนั่งเล่น สำหรับกิจกรรมบำบัด พื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อคลายเครียด เช่น กิจกรรมดนตรี กิจกรรมในวาระสำคัญเช่นวันแม่ กิจกรรมรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ และพื้นที่ ห้องรับแขก สำหรับ มิตรภาพบำบัด ที่ที่ครอบครัวของผู้ป่วยได้มาพูดคุยปรับทุกข์ มีปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมการอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ของชาวไทยอีสาน
โดยรวมแล้วตัวอาคารเองก็ยังเป็นเหมือน บ้าน หรือ สถาปัตยกรรมบำบัด อย่างหนึ่ง มีอาคาร 2 ชั้นสร้างล้อมพื้นที่ต้อนรับเพื่อให้ผู้ใช้อาคารรู้สึกว่าอาคารนั้นไม่ใหญ่มาก เหมือนกับบ้าน สร้างตามทิศทางลมและขึ้นตกของพระอาทิตย์ เพื่อให้โปร่งสบาย หลบแดดได้ เส้นทางในอาคารออกแบบมาให้ไม่ซับซ้อน และยังแยกเส้นทางสำหรับผู้ป่วยหนักออกจากผู้ป่วยทั่วไป ทำให้ผู้คนเกิดความสบายใจ
นอกจากนี้ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นถิ่นอีสานอย่างหลังคาที่มีจั่วพระอาทิตย์ มีลายโบราณรอบอาคารอย่าง ‘ลายตะเหลว’ ที่พบได้บนหม้อต้มยาเพราะเชื่อว่าทำให้เป็นยาวิเศษ ช่วยปัดเป่าความอัปมงคล ทำให้โรงพยาบ้านนี้เป็นดั่งหม้อต้มยาวิเศษที่จะช่วยขจัดสิ่งชั่วร้ายออกจากผู้ที่อยู่ในอาคาร
แผนผังและรายละเอียดของโรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น นี้ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่คิดมาอย่างถี่ถ้วนเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้อาคาร และทำให้ผู้ใช้อาคารมีภาพจำของโรงพยาบาลในมุมใหม่ๆ เป็นเหมือน ‘บ้าน’ ที่คุ้นเคยจริงๆ