ชีวิตการทำงานของ ‘หลวงกันต์’ ผู้ปิดทองหลังศิลปิน - Urban Creature

‘วรกันต์ ทองขาว’ เป็นชาวพัทลุง เพื่อนๆ เรียกว่า ‘หลวงกันต์’ 

ทุกวันนี้เขาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็โยกย้ายไปยังหลากหลายจังหวัดที่ต้องไปทำงานอยู่เสมอ

งานที่เขาทำเริ่มต้นจากเมื่อตอน ม.ปลาย ในโรงเรียนตัวอำเภอเมืองพัทลุง กันต์ได้เจอเพื่อนร่วมห้องชื่อ ‘โอ-ปวีร์ คชภักดี’ ที่มีรสนิยมการฟังเพลงเข้ากันได้ แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจและเปิดโลกใบอื่นๆ ให้กัน จนสุดท้ายคู่หูเด็กใต้ที่เรียนหนังสือไปตามพันธสัญญากับทางบ้าน ก็เริ่มหัดเล่นกีตาร์ เขียนเพลง และมีความฝันว่า ‘อยากจะเป็นศิลปินให้ได้ในสักวัน’ 

เวลาผ่านไป โอได้ไปเรียนต่อวิทยาลัยดนตรี ส่วนกันต์ที่ไม่ได้วางแผนอะไรไปมากกว่า ‘เป็นคนใหม่ ตั้งใจเรียน มีงานทำ’ ก็เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะวิทยาการสื่อสาร สาขานวัตกรรมการออกแบบสื่อและผลิตสื่อ

ทว่าเส้นทางกลับไม่ค่อยราบรื่น เขาติดเอฟและเรียนไม่จบตามเกณฑ์ ทั้งยังจับได้ใบแดงไปเป็นทหารเกณฑ์ถึง 2 ปี ก่อนกลับมาแก้เอฟและเรียนเพิ่ม ในปีสุดท้ายของการเรียนที่ต้องหาที่ฝึกงาน เขายกสายหาเพื่อนโอ ผู้กลายเป็น O-Pavee ศิลปินเริ่มมีชื่อเสียง เพื่อนรักแนะนำให้กันต์ไปฝึกงานที่ค่ายเพลง Believe Record ในตำแหน่งครีเอทีฟ 

วรกันต์ ทองขาว ผู้จัดการศิลปิน

เด็กใต้ย้ายขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ กับญาติ และเข้าสู่วงการดนตรี เรียนรู้วิธีทำงานจากการติดตามพี่ๆ ในทีมและศิลปินของค่ายไปทำการแสดง จนกระทั่งเขาได้ค้นพบว่าการดูแลศิลปินเป็นทักษะที่เหมาะกับตัวเองและอยากทำงานในสายนี้ จึงปักธงว่าจะกลับไปเรียนให้จบ เพื่อกลับมาทำงานนี้อีกครั้งให้ได้ 

ปี 2550 – 2557 กันต์ใช้เวลาในมหาวิทยาลัยเกือบ 8 ปี และออกมาใช้ชีวิตหลังใบปริญญาในปีที่ประเทศไทยเกิดรัฐประหารครั้งที่ 13 เขาพยายามหางาน จนได้ทำงานสายครีเอทีฟตามที่ตั้งใจ ทว่าทำได้ที่ละเดือนสองเดือนก็ต้องออก เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของวงการสื่อสาร ทีวีล้มตาย นิตยสารทยอยลาจากแผง งานโปรดักชันและโฆษณาอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่

ไม่หรอก กันต์ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว เพราะระหว่างอยู่กรุงเทพฯ พี่ที่รู้จักตอนไปฝึกงานได้ย้ายไปทำงานที่ค่ายเพลง What The Duck เมื่อมีงานที่ต้องพาศิลปินไปแสดงก็มักชวนเขาไปทำงานด้วยเสมอ จากนั้นมาชายหนุ่มเลยได้โยกย้ายไปไหนต่อไหนอยู่เสมอๆ

จากนักศึกษาฝึกงาน เป็นคนว่างงาน และเป็นน้องที่พี่ๆ ในวงการเรียกไปช่วยงานดูแลศิลปินและวงดนตรี ทั้งที่มีค่ายและอิสระมากมาย

O-Pavee, Max Jenmana, FREEHAND, YEW, Brown Flying, Dead Flowers, World Nopparuj, Wish., Clockwork Motionless, 2000.Twothousand และ Ae Jirakorn ทั้งหมดนี้คือรายชื่อศิลปินที่ใครหลายคนชื่นชอบ และมีกันต์เป็นผู้ดูแล 

จากความฝันอยากเป็นศิลปินมีผลงานของตัวเอง วันเวลากว่า 10 ปี พาให้หลวงกันต์มาทำงานอาชีพ ‘ผู้จัดการศิลปิน’ ผู้เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของหลายศิลปินและวงดนตรีอย่างเต็มตัว 

ในวัย 33 ปี ผู้จัดการศิลปินคิวแน่นอย่างเขา แบ่งเวลาพักผ่อนแสนสั้นยามเย็นในฤดูฝนมาพูดคุยถึงการทำงานของเขาให้เราฟัง

วรกันต์ ทองขาว ผู้จัดการศิลปิน

โมเมนต์ไหนที่ทำให้อยากทำงานผู้จัดการวงดนตรี 

ตอนได้เห็นพี่แฟรงค์-นัฐพงษ์ สุทธิวิรีสรรค์ ทำงาน (ปัจจุบันแฟรงค์เป็นผู้จัดการศิลปินแห่งค่าย What The Duck) แกนั่งพิมพ์งานในคอมพิวเตอร์ เปิดเพลงเต้นไปด้วย แต่เวลาคุยงานแกซีเรียส เพราะนั่นทำให้ศิลปินหรือลูกค้าต่อรองเจรจากันง่ายและสะดวก แกดูทำงานสนุกทั้งๆ ที่งานมันเครียดมาก เราซึมซับการทำงานมาจากพี่แกเยอะตั้งแต่สมัยฝึกงาน จนค้นพบสิ่งที่ตัวเองถนัด เมื่อก่อนไม่เคยรู้ว่ามีอาชีพแบบนี้อยู่บนโลกด้วย 

จำครั้งแรกที่ออกงานในฐานะผู้จัดการศิลปินได้ไหม

ถ้าเริ่มมีโอกาสได้ทำงานจริงๆ คือตอนไปทัวร์กับ 25 Hours, สิงโต นำโชค, ฯลฯ ตอนนั้นตามไปกับพี่แฟรงค์สมัยที่ยังอยู่ค่ายเพลง Believe Record

วันสุดท้ายในการทำงาน ของขวัญที่พี่แฟรงค์ให้คือการไปดูแลวงดนตรีสองวงในค่ายคือ Ewery กับ Ten to Twelve วันนั้นรู้สึกว่าเราทำงานได้ดี ภูมิใจในตัวเอง คิดว่าถ้าไปทำอย่างอื่นคงสู้ใครเขาไม่ได้ 

อะไรที่ทำให้มั่นใจว่าเราทำได้ดี

เพราะเขาให้โอกาสเรา ปล่อยให้ทำงานเอง โยนลงทะเลปล่อยให้หัดว่ายน้ำ เราได้รู้ว่าอาชีพ Artist Manager เป็นงานที่ทำได้ด้วยความสบายใจ เพราะต้องเชื่อใจกัน พี่แฟรงค์ให้โอกาสด้วยการประเมินว่าเราน่าจะเหมาะกับศิลปินหรือวงดนตรีวงไหน สามารถดูแลใครได้

ยังจำได้ว่าวันที่ทัวร์กับวง De Flamingo แกโยนกระดาษให้เราปึกหนึ่ง ให้ไปจัดการประสานงาน หาลูกค้า ดูเครื่องเสียง จองคิวรถตู้ นัดเวลาต่างๆ ตัวเราเองก็จัดการสิ่งนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะสนุกที่จะทำอะไรพวกนี้

ผู้จัดการศิลปินต้องทำอะไรบ้าง 

เราเริ่มจากการเป็น AR (Artist Relation) หรือผู้ดูแลศิลปิน ได้รับโจทย์จากค่ายหรือผู้จัดการวงนั้นๆ ให้พาศิลปินไปเล่นคอนเสิร์ต ตามไปดูหน้างาน ดูความเรียบร้อย 

พอขยับมาเป็นผู้จัดการศิลปิน (Artist Manager) ด้วยความที่เราไม่ได้มีสัญญาเป็นทีมงานในค่ายเพลงเพราะทำอิสระ ผู้จัดการศิลปินแบบเราจึงต้องทำทุกอย่าง ตั้งแต่ขายงาน หาสปอนเซอร์ เป็นคนรับงาน เป็น PR ติดต่อประชาสัมพันธ์กับสื่อ แถมยังต้องเป็นการเงิน ดูแลบัญชี บางทีต้องเป็น Show Director ให้วง แนะนำคนในวงให้รู้วิธีการจัดการตัวเอง ไปจนถึงเติมเต็มในส่วนที่วงขาด

การทำงานแตกต่างกันไหมระหว่างศิลปินที่มีค่ายกับอิสระ

ถ้าวงไหนที่เราดูแลอยู่เป็นวงที่มีค่าย ค่ายจะคอยช่วยเรื่องจัดการงานต่างๆ ให้ เช่น ดูแลหลังบ้าน คุยงาน วางตารางเวลา ช่วยหาคนมาทำเอ็มวี ทำกราฟิก วงมีค่ายจะได้รับความสนใจจากสื่อมากกว่า มีช่องทางในการหางานเยอะกว่า เป็นทีมมากกว่าวงที่ทำกันเอง ก็ช่วยแบ่งเบาเราได้เยอะ

ในวันข้างหน้า วงอิสระเล็กๆ ที่เรากำลังดูแล พอพวกเขาเติบโตและมีศักยภาพเยอะขึ้น อาจจะขยับไปอยู่ค่ายก็ได้ เพื่อให้ได้เงินมาลงทุน สามารถพาเพลงของวงไปได้กว้างขึ้น 

แต่ทั้งนี้ก็เป็นไปตามที่ศิลปินต้องการให้เป็น บางวงแฮปปี้ที่จะอยู่ตรงนี้ เราก็พอใจตรงนี้ ถ้าศิลปินอยากมีค่าย เราก็พาไปคุย พอได้ไปอยู่กับค่าย วิธีการทำงานก็จะกลายเป็นรูปแบบพึ่งพากัน เราแค่เป็นตัวกลาง เป็นปลายน้ำ มีส่วนช่วยคุมปริมาณและมาตรฐานให้พวกเขา ผู้จัดการช่วยในการตัดสินใจได้ส่วนหนึ่ง 

คุณเลือกศิลปินและวงดนตรีที่อยากทำงานด้วยยังไง

เราเลือกทำงานกับศิลปินที่มองเห็นจินตนาการเดียวกัน มีทัศนคติไปด้วยกันได้ ศิลปินที่ดูแลอยู่ ทุกคน ทุกวง คือคนที่ทำงานด้วยแล้วสบายใจ ต่างคนต่างเชื่อใจกัน เป็นทีมที่เหนียวแน่นมาจนถึงทุกวันนี้ 

ถ้ามีคนติดต่อมาจองงานศิลปินที่ดูแล คุณต้องทำอะไรบ้าง

ดูคิว แล้วบอกราคา สุดท้ายคอนเฟิร์ม ถ้าลูกค้าติดต่อไปที่ค่าย ค่ายก็ต้องมาถามเราก่อนว่าคิวศิลปินว่างอยู่มั้ย รับงานได้หรือเปล่า แค่ต้องส่งเอกสารให้ที่ค่ายช่วยออกในนามบริษัทหรือนามค่าย

พอเอกสารเสร็จก็ประสานงานต่อว่าโชว์กี่โมง ซาวนด์เช็กกี่โมง เล่นที่ไหน ประสานงานเรื่องอุปกรณ์ดนตรี เช็กคิววง เช็กคิวทีม เช็กเวลาออกเดินทางไป-กลับ เตรียมงานทุกอย่างแล้วส่งต่อให้ AR ที่รับงานดูแลและเตรียมพาศิลปินไปเล่น หรือบางงานเราก็ไปเอง 

แล้วแต่ละวัน คุณทำงาน 8 ชั่วโมงเหมือนพนักงานออฟฟิศที่ทำงานเป็นผู้จัดการหรือเปล่า 

ก่อนนอนเราจะโน้ตว่าต้องทำอะไร ดูว่าต้องโทรหาใคร คุยกับลูกค้าเจ้าไหน ทำใบเสนอราคา เช็กดูความคืบหน้าที่แต่ละวงกำลังทำ เช่น ปล่อยเพลง ทำคอนเทนต์ ไปถ่ายรายการ ฯลฯ 

พอตื่นมาก็เตรียมรับโทรศัพท์ ตอบไลน์ ถ้าช่วงไหนศิลปินเตรียมทำเพลง เราก็เข้าไปเป็นที่ปรึกษารับทราบความเคลื่อนไหว แค่นี้หมดวันแล้ว พวกเรื่องเอกสารเลยต้องแบ่งเวลามาทำตอนกลางคืน แต่ถ้าเราออกไปทัวร์ ไม่มีเวลาทำ ก็ต้องใช้เวลาเงียบๆ ตอนอยู่ที่พักจัดการ

นอกจากนี้ก็มีช่วงที่ต้องโทรคุยกับศิลปิน ใครจะปรึกษา วางแผนอะไร บางคนคุยกันตีหนึ่งตีสอง เขาเกิดปิ๊งไอเดียอะไรก็โทรหาเราตอนนั้น บางร้านตีสามตีสี่โทรมาติดต่อขอศิลปินไปเล่น ถ้าเรายังไม่นอนก็จะรับสาย เพราะอาจเป็นโอกาสให้วงดนตรีที่ดูแล เราทำงานตลอด ไม่มีเวลาเข้า-ออก

เคยรับสายมากที่สุดกี่สาย

ไม่ได้นับ เพราะเยอะมาก ช่วงแรกๆ พกโทรศัพท์สองเครื่อง มีช่วงที่หลอนโทรศัพท์ นอนแล้วฝันว่าได้ยินเสียงโทรศัพท์ เพราะกังวลเรื่องรับสาย

ผู้จัดการศิลปิน ไม่มีสิทธิ์ว่างเลยเหรอ

จริงๆ มี แต่เรากังวลเอง อยากดูหนังในโรงก็ไม่กล้า กลัวทำให้คนอื่นเสียโอกาส 

วรกันต์ ทองขาว ผู้จัดการศิลปิน

เคยผิดพลาดหรือสับสนเรื่องเวลาบ้างหรือเปล่า

ไม่เคย เพราะเรากังวลตลอดเวลา ความกังวลทำให้เราจนตรอก เพราะต้องแบกชีวิตวงและทีมงานมากมาย ทั้งเรื่องรายได้และความปลอดภัย เขาไว้ใจให้เราทำงาน เราเลยไม่อยากพลาด ถ้าจะมีพลาดก็คงเป็นเรื่องความไม่แน่นอนของอะไรที่ไม่อาจควบคุมได้ อีกอย่างเราไม่อยากให้ศิลปินต้องมาคิดมาก เพราะพวกเขาต้องใช้พลังงานไปกับการขึ้นโชว์บนเวทีอยู่แล้ว

แล้วที่ผ่านมา คุณเคยมีปัญหากับตัวศิลปินหรือวงดนตรีที่ดูแลบ้างไหม

เราไม่ทะเลาะกับใครเลย เพราะเราเป็นคนดูแลผลประโยชน์ให้ทุกคน ไม่ใช่แค่ศิลปิน แต่รวมถึงทุกฝ่ายที่ร่วมงานกัน ถ้ามีปัญหาจะคุยกันแบบตรงไปตรงมา เราอยากมีเพื่อน ไม่ได้อยากแตกหัก ทุกคนมาทำงานวงการเพลงด้วยความรักเหมือนกันหมด เราไม่อยากเสียสิ่งนี้ไป 

เวลาคุยงาน เราจึงคุยกันหนัก เพื่อให้ไปกันได้ไกล เงื่อนไขทุกอย่างต้องคุยกันให้ขาดก่อนเริ่มทำงาน เราจะทำงานกับคนที่คุยกันขาดแล้ว เหมือนมีเซนส์ที่บอกให้รู้ว่าทำงานกับใครแล้วสบายใจ ถ้ารู้สึกว่าน่าจะทำงานกันไม่ได้ ก็จะไม่ทำด้วย อีกอย่างการเป็นผู้นำที่ดูแลคนอื่น มันต้องมีความชัดเจน ถูกต้อง จะได้พาทุกคนไปข้างหน้าได้ 

วงการเพลงไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คุณมองว่ามีข้อดี-ข้อเสียยังไงบ้าง

มันสนุกขึ้น เทรนด์เพลงหรือกระแสเพลงปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด บุคลากรในวงการเพลงแข่งขันกันเพิ่มขึ้น ทำให้แนวเพลงมีหลากหลาย แยกย่อยเยอะแยะ ผู้บริโภคสามารถเลือกเพลงที่ตัวเองอยากฟังได้ ขึ้นอยู่ที่ศิลปินว่าจะมีความเชื่อในงานของตัวเองแค่ไหน 

ตอนนี้โอกาสทางธุรกิจ ช่องว่างในการขายมันกว้างกว่าเดิม มียูทูบ มิวสิกสตรีมมิง โซเชียลมีเดีย และอะไรๆ ที่สามารถสร้างรายได้ให้ศิลปินหล่อเลี้ยงงานของตัวเองให้เติบโตต่อไปได้ 

มีอะไรที่อยากให้วงการเพลงปรับเปลี่ยนบ้าง

เรื่องการผลักดันให้ศิลปินทุกคนที่สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองมีรายได้ที่เป็นมาตรฐาน เราเชื่อว่าผู้จัดการทุกคนพยายามทำงานเพื่อให้ศิลปินมีรายได้ที่ดีพอ ตอนนี้ศิลปินเยอะขึ้น ผู้จัดงานก็เยอะขึ้น แต่จะทำยังไงให้ศิลปินมีรายได้ของเขาจริงๆ 

แปลว่าทุกวันนี้ศิลปินได้ค่าจ้างไม่เป็นที่น่าพอใจ

ไม่ใช่ว่าไม่น่าพอใจ เราเชื่อว่าผู้จัดการ ผู้จัดงาน และทุกส่วนในวงการนี้กำลังผลักดันให้ศิลปินเป็นอาชีพที่สามารถหาเงินเลี้ยงชีพได้ เราเชื่อว่าความคาดหวังของศิลปินคือการอยากไปทัวร์คอนเสิร์ต แต่ด้วยบริบทโครงสร้างทางสังคมที่เป็นเช่นนี้ ทำให้แม้ว่าจะมีวงดนตรีที่หลากหลายแนวเพลง แต่ร้านที่สามารถรองรับได้มีอยู่จำกัด

เพราะฉะนั้นจุดสูงสุดของการทำงานนี้ของเราคือ ศิลปินและวงดนตรีทุกวงที่เราดูแลต้องมีงานเพลงที่คนรู้จัก มีงานโชว์ในแต่ละเดือน ซึ่งมันยังเป็นเรื่องยากมาก แต่เราก็หวังให้พวกเขาประสบความสำเร็จ สร้างอาชีพได้ 

วรกันต์ ทองขาว ผู้จัดการศิลปิน

คิดว่าผู้จัดการดนตรีเป็นอาชีพที่อยู่ส่วนไหนในวงการดนตรี

เราเรียกตัวเองว่าเป็นห้องเครื่อง เหมือนเพลงของฮิวโก้ ชอบท่อนที่บอกว่า แต่งานไม่เคยจบ ยิ่งกว่าโรงงานนรก เหมือนเราเป็นฐานข้อมูล เป็นห้องเครื่องให้ทุกคน มันไม่มีวันจบจริงๆ ต้องตอบคำถามให้ทุกคนทุกฝ่าย และต้องตอบให้ได้ทั้งหมด

แล้วตำแหน่งผู้จัดการศิลปินสำคัญต่อวงการดนตรีอย่างไร 

สำคัญในแง่ถ้าไม่มีเรา ศิลปินจะไม่มีสมาธิขึ้นไปโชว์ เพราะเรื่องที่เราต้องดูแลทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่จุกจิกมาก ถ้าให้ศิลปินไปจัดการเองจะปวดหัว ไม่มีสมาธิ 

เรามองว่าตัวเองเป็นร่างมืด ศิลปินเป็นร่างสว่างที่ต้องคิดผลงานขึ้นไปโชว์ เราจะเป็นร่างจัดการเรื่องจุกจิก การประสานงาน การดีล การคุยกับผู้คน ดูว่าอะไรที่มีประโยชน์หรือสำคัญกับพวกเขา เราบอกศิลปินที่เราดูแลทุกคนทุกวงว่า ไม่ต้องเครียดกับเรื่องนี้ หน้าที่คุณคิดงานไปเลย เดี๋ยวเราเอาเรื่องปวดหัวมาจัดการเอง

ยกตัวอย่างเรื่องปวดหัวให้ฟังได้ไหม

อย่างเวลาไปหน้างาน ถ้าต้องมีการต่อแถวถ่ายรูปก็ต้องต่อแถวทุกคน จะไม่ให้ใครได้อภิสิทธิ์เหนือใคร ไม่ทำสิ่งที่เรียกว่าสองมาตรฐาน เพราะทุกคนก็ตั้งใจมารอถ่ายรูปเหมือนกัน ถ้าต้องดุก็จะดุ เหตุการณ์ไหนด่าได้เราก็ด่า เพราะต้องเคารพกติกา 

เด็กรุ่นใหม่มองเรื่องความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นเราก็อยากทำสิ่งนี้ให้กลายเป็นเรื่องปกติด้วย เลยต้องทำให้มันถูกต้องที่สุด ทุกคนทั้งแฟนเพลง คนจัดงาน ศิลปินจะได้ไม่เหนื่อย มีเวลาพักผ่อนเพื่อไปทัวร์งานต่อไป 

แต่บางคนไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องแสดงออกแบบนี้ หาว่าเราดุ เราก็ยอมโดนด่านะ เพราะเราทำหน้าที่ของเรา เพื่อป้องกันไม่ให้ร้านที่ไปเล่นหรือศิลปินที่เราดูแลเจอผลกระทบอะไร เราชอบที่พี่บอล วง Scrubb (ต่อพงษ์ จันทบุปผา) บอกว่า อย่าเอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง ทุกอย่างต้องทำให้ถูกต้องที่สุด แล้วทุกคนจะได้รับผลประโยชน์เท่ากัน

ความป่วยไข้ของการทำอาชีพนี้คืออะไร

เรื่องกายภาพ ถ้านั่งทำงานเยอะจะปวดหลัง ไปทัวร์ เดินเยอะ ยืนเยอะ วิ่งเยอะ จะปวดเข่า ส่วนทางจิตใจน่าจะเป็นเรื่องวิตกกังวลเรื่องงาน อยากทำงานอยู่ตลอด นอนไม่หลับ ควรต้องแบ่งเวลาให้ตัวเองพักผ่อนบ้าง 

บางคนเข้าใจว่าการทำงานนี้มันสนุกอย่างเดียว ได้พาศิลปินไปเล่น ได้เจอผู้คนจริงๆ แต่นั่นแค่หน้างาน เพราะกว่าจะมีงานงานหนึ่งเกิดขึ้น มันใช้เวลาเตรียมงานนานมาก ต้องสื่อสาร เตรียมเพลง เตรียมซ้อม เตรียมพร้อมเรื่องสุขภาพ พลังงานในการโชว์ เป็นสิ่งที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันจัดการก่อนจะขึ้นบนเวที 

ก่อนขึ้นเล่นครึ่งชั่วโมง วินาทีนั้นเป็นจุดที่เราจะซีเรียสสุดๆ ห้ามพลาด เพราะพลาดแค่นิดเดียวศิลปินจะเกิดความกังวล เราต้องเป็นคนช่วยเคลียร์ให้เขาทิ้งทุกอย่างไว้ข้างล่างเวที แล้วขึ้นไปโชว์ให้ได้อย่างเต็มที่ 

วรกันต์ ทองขาว ผู้จัดการศิลปิน

อยู่กับสังคมกลางคืนบ่อย คุณจัดการดูแลตัวเองและศิลปินยังไง

เราจะบอกเรื่องการครองตนเสมอ การมีเพลงดังเป็นก้าวแรก และการมีเพลงดังแล้วได้ไปเล่นคือโอกาส พอไปเล่นแล้วจะทำให้ได้เล่นต่ออีกต้องทำยังไง บางคนมีชื่อเสียงแล้วเหินก็เยอะ ไปทัวร์เป็นศิลปินแล้วเมาเละ ครองตนไม่ได้ จะเอาอะไรไปโชว์ วินัยต้องมี ถ้าเป็นเวลาทำงานจะเห็นเลยว่าเราซีเรียสมากๆ เมื่อต้องทำเป็นอาชีพ ก็ต้องตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก เพราะปัญหาเกิดขึ้นอยู่ตลอด 

เวลาไปทัวร์จริงๆ ทุกคนแทบไม่ดื่มเลย เพราะไปทำงาน เราจะบอกศิลปินทุกคนว่า ถ้าไปทัวร์เยอะๆ ต้องจัดการตัวเองให้ดี ร้านทุกร้านจ้างไปเล่นเท่ากันหมด ต้องเต็มที่ทุกงาน คนเขาตั้งใจมาดู 

ตามไปออกงานกับศิลปินเยอะ คุณชอบไปงานแบบไหนที่สุด

ชอบไปร้านเหล้าที่อยู่แถบมหาวิทยาลัย เพราะไปเจอพลังวัยรุ่น เด็กๆ รุ่นใหม่ เหมือนเราพาศิลปินไปสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา นึกถึงตัวเองตอนมัธยมฯ ที่แอบพ่อไปดูดนตรี ได้สบตากับศิลปินที่ชอบ มันสร้างพลังให้เรามาจนถึงทุกวันนี้

ประเมินตัวเองในเส้นทางอาชีพนี้ยังไง คิดว่าประสบความสำเร็จหรือยัง

ไม่คิดว่าจะมีโอกาสมาอยู่ตรงนี้ เป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่ตั้งใจทำงาน เพราะไม่รู้ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นแค่ไหน เลยต้องทำทุกอย่างให้คุ้มค่าโอกาสและความเชื่อใจที่คนอื่นมอบหมายให้เราได้ทำงาน 

เราซึมซับวิธีการทำงานแบบค่ายแล้วมาประยุกต์ใช้ในแบบอิสระของเรา เราจะไม่ภูมิใจถ้าศิลปินมาอยู่กับเราแล้วเขาดังแต่เราได้เครดิตโดยที่ไม่ได้ทำอะไร เพราะพวกเขาลงแรงความคิดเหมือนกัน ส่วนเราก็พยายามลงอีกแรงหนึ่งเพื่อช่วยสนับสนุนพวกเขา เป็นเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน การได้ตามศิลปินไปทำงาน ทำให้เราเข้าใจศิลปินมากขึ้น เข้าใจคุณค่าเหมือนได้เป็นเจ้าของผลงานที่ตัวเองทำ ได้รู้ว่าเราควรจะพาศิลปินไปตรงจุดไหน สำหรับวันนี้ถือว่าตัวเองทำสำเร็จแล้ว

ตอนนี้ความฝันของคุณเป็นยังไงบ้างแล้ว

ตั้งแต่เด็กเราอยากเป็นศิลปิน จนวันนี้เรามีพาร์ตวงดนตรีของเราเอง (ชื่อวง Human of Thailand) กลายเป็นวงดนตรีที่ทำเอาความสุข ไม่ได้มุ่งมั่นอยากมีเพลงดังเหมือนเมื่อก่อน เป็นการเล่าเรื่องอีกมุมของเรา ปล่อยให้มันเป็นไปตามเวลาและประสบการณ์ที่เราถ่ายทอดผ่านเพลง อาจจะทำให้ใครบางคนรู้สึกร่วมด้วยก็เป็นได้ เราเชื่อว่าเสียงเพลงมีคุณค่า สามารถขัดเกลาจิตใจมนุษย์ได้ เดี๋ยวจังหวะและโอกาสก็เดินทางของมันเอง

เราเองมีความฝัน แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ ก็เลยเข้าใจคนที่มีความฝัน ได้มาทำงานตรงนี้ ได้ผลักดันศิลปินและวงดนตรี เราอยากจะช่วยดูแลพวกเขาให้มีความสุขและทำตามความฝันได้

การทำงานนี้ให้คุณค่าอะไรกับชีวิตของคุณ

เราได้พาศิลปินไปเจอความสำเร็จ ได้เห็นคนที่มารอต่อแถวเจอศิลปิน ได้ยินแฟนเพลงมาขอบคุณศิลปินที่เปลี่ยนชีวิตพวกเขาด้วยเสียงเพลง สิ่งนี้มันช่วยขัดเกลาเราไปด้วย รู้สึกดีใจที่เห็นสิ่งนี้กับศิลปินที่เราดูแลอยู่ 

เรามีพื้นฐานเป็นคนเกเรมาก่อน ไม่คิดว่าจะมีอนาคตอะไร ก็เลยต้องการทำงานเพื่อจะชดใช้ชีวิตที่เคยเสียไป ถ้าไม่ได้ทำงานหรือไม่มีใครชวนเราไปทำงาน เราคงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า

เราท่องคาถาการขายวิญญาณอยู่ตลอด ใช้คำนี้แล้วดูน่ากลัว แต่จริงๆ คือ การทุ่มเททั้งวิญญาณให้ประสบความสำเร็จ เพราะมีคำกล่าวที่ว่า รักอะไรให้พาตัวเองไปอยู่กับสิ่งนั้น เราคิดว่าถ้าไปทำงานอื่นคงไม่มีความสุขในชีวิตเท่าตอนนี้

วรกันต์ ทองขาว ผู้จัดการศิลปิน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.