MONOLOGO Coffee ร้านกาแฟที่ต่อขยายจากโรงงานเก่า ในเขตพื้นที่คุ้มครองอุตสาหกรรมโรงงานของเมืองปักกิ่ง

หากใครมีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวที่เมืองปักกิ่งสักครั้ง ‘751D·PARK’ ถือเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะนอกจาก 751D·PARK จะเป็นสถานที่ที่ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นแหล่งรวมความบันเทิงตั้งแต่ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงละคร นิทรรศการการออกแบบ บาร์ดนตรี ไปจนถึงร้านหนังสือ 751D·PARK เองก็ยังคงอนุรักษ์ความดั้งเดิมของเขตอุตสาหกรรมที่เป็นที่ตั้งของอดีตโรงงานทั้งหมด 751 แห่งไว้ด้วยกัน หนึ่งในสถานที่ที่ต้องปักหมุดสุดๆ คือ ‘MONOLOGO Coffee’ ร้านกาแฟที่เบลนด์ตัวเองเข้ากับโรงงานเก่าได้อย่างลงตัวในพื้นที่ขนาด 375 ตารางเมตร จากการสร้างร้านกาแฟใหม่ครอบส่วนหนึ่งของโรงงานเก่า คล้ายเป็นการต่อขยายจากตัวโรงงานเดิมโดยไม่รบกวนหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่เดิมไปมากนัก คาเฟ่แห่งนี้อยู่ภายใต้การออกแบบของสตูดิโอออกแบบพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง ‘SpaceStation’ ที่ต้องการสร้าง MONOLOGO Coffee ให้ออกมาสมบูรณ์แบบ แต่ไม่ทำลายรูปแบบของโรงงานเดิม และยังทำให้ผู้ใช้งานสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างของเก่าและของใหม่ได้ด้วย เพราะเมื่อเดินเข้าไปภายใน เราจะพบกับเก้าอี้และโต๊ะสำหรับนั่งจิบกาแฟชิลๆ อยู่ร่วมกับเตาเผาเก่าขนาดใหญ่ที่กระจายตัวอยู่ภายใน ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังก้าวเข้าสู่พื้นที่อนุสรณ์ของย่านโรงงานในอดีตที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตของผู้คนในเวลานั้น นอกจากนี้ SpaceStation ยังออกแบบให้ส่วนหน้าอาคารด้านทิศเหนือและทิศใต้เปิดโล่ง เพราะต้องการให้ MONOLOGO Coffee เป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะของเมืองที่เปิดให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวได้แวะพักเอนหลังสักครู่ ก่อนจะเดินทางไปดื่มด่ำศิลปวัฒนธรรมกันต่อใน 751D·PARK ตลอดทั้งพื้นที่ Sources : ArchDaily | t.ly/qMhrBeijing Tourism | t.ly/POSoxSpaceStation | t.ly/ev92

Beijing’s Sub-Center Library ห้องสมุดใหม่ในปักกิ่งที่ร่มรื่น เหมือนได้อ่านหนังสือในป่าแปะก๊วย

ในขณะที่ประเทศไทยยังต้องเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนับสนุนวงการหนังสือ ร้านหนังสือ และห้องสมุดกัน ตัดภาพไปที่ประเทศอื่นๆ ที่นอกจากส่งเสริมนโยบายเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์อย่างเข้มแข็งแล้ว ยังสร้างห้องสมุดใหม่ๆ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนกันมากขึ้น แค่มีห้องสมุดเกิดขึ้นไม่พอ ถ้าติดตามข่าวสารแวดวงนี้บ่อยๆ จะพบว่าเหล่าห้องสมุดเกิดใหม่ในประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนได้รับการออกแบบอย่างดี ตอบโจทย์ทั้งความสวยงามและฟังก์ชันการใช้งานของผู้คน ในระดับที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศได้เลย ประเทศจีนเองก็เป็นประเทศหนึ่งในประเทศที่มีห้องสมุดขนาดใหญ่และเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของประเทศ  ล่าสุดที่กรุงปักกิ่งเพิ่งจะเปิดตัวแบบของห้องสมุดชุมชนขนาดใหญ่แห่งใหม่ในเขตชานเมือง ในชื่อ Beijing’s Sub-Center Library ซึ่งออกแบบโดย Snøhetta บริษัทสถาปนิกระดับโลกจากนอร์เวย์ ห้องสมุดแห่งนี้ออกแบบเป็นโครงสร้างปิดด้วยกระจกสูง 16 เมตร และยังเป็นอาคารกระจกหลังแรกในประเทศจีนที่รองรับน้ำหนักของตัวเองได้ ภายในอาคารมีเสาคล้ายต้นไม้รองรับหลังคาให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในป่าต้นแปะก๊วย (Ginkgo biloba) ซึ่งเป็นต้นไม้อายุกว่าสามร้อยล้านปีที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน พบได้ทั่วไปทั้งริมถนนและสวนสาธารณะในประเทศจีน  สตูดิโอ Snøhetta เล่าว่าพื้นที่ภูมิทัศน์ที่ออกแบบมีลักษณะเป็นขั้นบันได เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเหมือนต้นไม้ที่เชิญชวนให้ผู้คนนั่งลงและหยุดพักระหว่างเดินผ่าน เป็นการสร้างพื้นที่เพื่อให้ผู้ใช้งานรู้สึกสบายๆ ในการอ่าน และใส่แนวคิดที่ทำให้รู้สึกเหมือนได้นั่งอ่านหนังสือเล่มโปรดใต้ต้นไม้เข้าไป เสาของอาคารแต่ละต้นยังติดตั้งเทคโนโลยีที่ช่วยเรื่องควบคุมอุณหภูมิ แสงสว่าง ประสิทธิภาพด้านเสียง และการกำจัดน้ำฝนของห้องสมุด ส่วนแถวของคอลเลกชันหนังสือ พื้นที่อ่านหนังสือ และอัฒจันทร์ขนาดใหญ่จะสร้างขึ้นด้านในและรอบๆ ช่องทางเดิน ให้ออกมาเป็นพื้นที่คล้ายหุบเขาในห้องสมุด เหมือนได้เดินอยู่ในหุบเขาที่มีต้นแปะก๊วยปกคลุม อีกความเจ๋งของห้องสมุดนี้คือ หลังคาอาคารที่ได้รับการติดตั้งด้วยระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์แบบบูรณาการ ซึ่งจะให้พลังงานหมุนเวียนแก่ตัวห้องสมุดและช่วยประหยัดการใช้พลังงานภายในอาคารได้ ส่วนหลังคาใบแปะก๊วยที่ยื่นออกไปนอกตัวอาคารยังช่วยลดแสงที่ส่องเข้ามาในอาคารได้อีกด้วย  ห้องสมุดใหม่ในกรุงปักกิ่งแห่งนี้ได้เริ่มดำเนินการสร้างแล้วและคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2022 นี้ ชาวนักอ่านและนักเดินทางที่ชื่นชอบห้องสมุดต้องอย่าพลาดเชียว […]

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.