‘แมลงสาบ’ สัตว์ชวนอี๋ ดีหรือร้ายกันแน่? - Urban Creature

บางคนกลัวจิ้งจก 
บางคนกลัวแมงมุม 
บางคนกลัวตะขาบ 
และบางคนก็กลัวแมลงสาบจนขึ้นสมอง!

A : เวลาเห็นมันวิ่งเฉยๆ ก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปใกล้ แต่ถ้ามันอัปเลเวลกางปีกบินเมื่อไหร่ก็วิ่งโกยแนบทางใครทางมัน

B : วันไหนฝนตก ภาพกองทัพแมลงสาบเป็นร้อยที่กรูกันหนีน้ำออกมาจากท่อ สำหรับคนทั่วไปอาจแค่หยึยๆ แต่กับคนกลัวแมลงสาบอย่างเรา บอกเลยสยดสยองปนขยะแขยงพานกินข้าวไม่ลงไปหลายวัน

C : ฉันก็อยากให้โลกนี้ไม่มีแมลงสาบ

‘ไดโนเสาร์’ และ ‘แมลงสาบ’ ต่างก็เป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดขึ้นบนโลกใกล้ๆ กัน เพียงแต่ชนิดแรกนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว ในขณะที่ชนิดหลังกลับอยู่ยงคงกระพันเอาตัวรอดมาได้หลายร้อยล้านปี เพราะแมลงสาบเป็นสัตว์ที่อยู่เป็น ปรับตัวเก่ง กินอะไรก็ได้ และไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน หรือโลกเปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่ก็ไม่สามารถทำอะไรมันได้

แมลงสาบเป็นสัตว์ตัวเล็ก และมีโครงสร้างภายนอกที่ยืดหยุ่นสูง ทำให้มันซ่อนตัวในที่แคบได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีภัยมา นักวิจัยจากสถาบันสรีรวิทยาพืชและนิเวศวิทยาในเซี่ยงไฮ้ บอกว่าในตัวแมลงสาบมี ‘ยีน’ ที่ถอนพิษตัวเองได้ ยีนช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง มีแม้กระทั่งยีนช่วยสร้างแขนขาขึ้นมาใหม่ หมายความว่าต่อให้กินอาหารเน่าหรือมีพิษ อยู่ในสถานที่สกปรก หรือพบพลาดโดนทับโดนเหยียบก็ไม่สามารถทำอะไรพวกมันได้

ในขณะที่ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดูของสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาเกี่ยวกับการกำจัดแมลงภายในบ้านพบว่า ยาฆ่าแมลงอาจจะใช้กำจัดแมลงสาบไม่ได้อีกต่อไป เพราะแมลงสาบเรียนรู้ที่จะปรับตัวและสร้างภูมิต้านทานการดื้อยาได้อย่างรวดเร็ว 

นอกจากนี้ผลวิจัยของ ดร.โคบี้ ชาร์ล (Kobe Charles) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ระบุว่า แมลงสาบสามารถใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีหัวนานถึง 1 สัปดาห์ กลั้นหายใจได้ 40 นาที อยู่ใต้น้ำได้นาน 30 นาที แม้อยู่ในอุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียสก็ไม่ตาย อีกทั้งไม่กินอาหารและน้ำเกือบเดือนก็ใช้ชีวิตต่อไปได้สบายใจเฉิบ ‘อึด ถึก ทน’ จึงเป็นคำจำกัดความที่เรามอบให้กับปีเตอร์เพื่อนรักของเรานั่นเอง

บทที่ 1 | Anatomy ของปีเตอร์

พนันได้เลยว่าเราไม่มีทางรู้หรอกว่าแมลงสาบรับน้ำหนักที่มากกว่าตัวมันได้ถึง 900 เท่าโดยปราศจากอาการบาดเจ็บ แข็งแรงเหมือนใส่เกราะเหล็ก! ด้วยเหตุผลนี้เวลาที่เราต้องการกำจัดฟาดพวกมันด้วยวิธีฮาร์ดคอร์ หรือโดนของแข็งทับเข้าอย่างจัง แต่ก็ยังวิ่งฉิวได้สบาย

ร่างกายแมลงสาบ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ‘ส่วนหัว’ ที่มีลักษณะคล้ายผลชมพู่ ประดับด้วยหนวด 1 คู่ ที่เปรียบเสมือนเรดาร์ในการหาอาหารหรือดมกลิ่น ไล่ลงมาจะเป็น ‘ส่วนอก’ ที่เชื่อมกับ ‘ส่วนท้องหรือลำตัว’ ที่ปกคลุมไปด้วยปีกสีน้ำตาลอันสง่างาม พร้อมกับขาเรียวยาว 3 คู่ เอาไว้สำหรับวิ่ง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแมลงสาบวิ่งได้ด้วยความเร็ว 3 ไมล์ต่อหนึ่งชั่วโมงเชียวแหละ

ในส่วนของวงจรชีวิต แมลงสาบมีการเจริญเติบโตเป็นแบบไม่สมบูรณ์ หรือมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเพียง 3 ขั้นตอน คือ ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย แต่ที่น่าสนใจคือผลการศึกษาของฮิโรชิ นิชิโนะ นักกีฏวิทยา จากมหาวิทยาลัยฮอกไกโดของญี่ปุ่น ยังพบว่า แมลงสาบตัวเมียสายพันธุ์อเมริกันและเยอรมันขยายพันธุ์เองได้โดยไม่ง้อตัวผู้อีกต่อไป ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบสืบพันธุ์อีกรูปแบบหนึ่งของแมลงสาบตัวเมีย แม้ไม่มีตัวผู้เหลืออยู่แล้วก็ดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

และด้วยความทนทายาดของพวกมัน ปัจจุบันโลกเรามีแมลงสาบอยู่มากกว่า 30 สกุล 4,500 ชนิด ซึ่งทั้งหมดออกลูกเป็นไข่ มีเพียงแมลงสาบเต่าทองแปซิฟิกชนิดเดียวที่ออกลูกเป็นตัว โดยจากการสำรวจแมลงสาบที่พบในประเทศไทยมีทั้งหมด 12 ชนิด และพบในเฉพาะกรุงเทพฯ ถึง 6 ชนิดด้วยกัน คือ 1. แมลงสาบอเมริกัน 2. แมลงสาบออสเตรเลีย 3. แมลงสาบเยอรมัน 4. แมลงสาบคาดสีน้ำตาล 5. แมลงสาบอินดิคัส และ 6. แมลงสาบผี

บทที่ 2 | ตัวกินไม่เลือก

อาหารไม่ได้เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตแค่ของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้อยใหญ่อีกด้วย โดยเฉพาะแมลงสาบ สัตว์ที่เกิดมาเพื่อกิน กิน กิน แล้วขยายพันธุ์

ด้วยเป็นสัตว์ที่กินง่าย อยู่ง่าย ฉะนั้นพวกมันจึงกินอาหารได้ทุกชนิด ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ เช่น เศษอาหาร เนื้อสัตว์ ซากสัตว์ เศษเล็บ เส้นผม น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ กระดาษ ไปจนถึงเนื้อผ้าที่เราสวมใส่กันก็ไม่เว้น แต่สิ่งที่มันชอบมากที่สุดก็คืออาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล แต่สิ่งที่เราตกใจก็คือแมลงสาบ มันยังกินพวกเดียวกันเองในยามจำเป็นอีกด้วย

บทที่ 3 | ตัวสะสมเชื้อโรค

แมลงสาบมักอาศัยในบริเวณที่สกปรก ไม่ว่าจะท่อระบายน้ำ หรือตามกองขยะ เชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว พยาธิ และเชื้อรา จึงติดมากับตัวของมัน นอกจากนั้นระหว่างที่กำลังกิน หรือเดิน แมลงสาบก็มักจะขับถ่ายอยู่ตลอดเวลา ทำให้เชื้อโรคกระจายและลอยฟุ้งอยู่ในอากาศไปยังบริเวณต่างๆ ที่พวกมันเดินผ่าน 

นั่นจึงสอดคล้องกับกรมอนามัยที่ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า แมลงสาบคือแหล่งสะสมเชื้อโรคและแบคทีเรียนับพันชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกว่า 40 ชนิด ทั้งท้องร่วง ท้องเสีย อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ โรคผิวหนัง ตับอักเสบ หอบหืด รวมถึงภูมิแพ้ นอกจากนั้นแมลงสาบยังทำหน้าที่เป็นโฮสต์ให้กับพยาธิหลายชนิดด้วย เช่น พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือนกลม พยาธิตืดแคระ พยาธิตืดวัว และพยาธิใบไม้เลือด เห็นอย่างนี้แล้วคนไม่กลัวแมลงสาบก็ขยาดขึ้นมาเหมือนกัน

บทที่ 4 | แมลงสาบ กำจัดง่ายๆ ได้ด้วย…

กลิ่นก็เหม็น ทั้งยังสกปรก ตามตัวมีแต่เชื้อโรคเต็มไปหมด ทั้งยังสร้างความรำคาญและรบกวนจิตใจไม่รู้จบ มีสถิติพบว่าถ้าเห็นแมลงสาบเดินในครัวหมายความว่าบริเวณนั้น จะมีเพื่อนของมันอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 500 ตัว ฉะนั้น นอกจากหยิบไบกอนมาฉีดทำลายมันให้สิ้นซากแล้ว เราก็มีวิธีกำจัดแมลงสาบแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมทำได้ง่ายๆ จ่ายในราคาไม่แพงมาฝากกัน 

เริ่มต้นที่เอาผงพริกไทย 2 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำสะอาด 1/4 ถ้วยตวง แล้วนำไปวางหรือฉีดบริเวณที่แมลงสาบชอบเข้าไปซุกซ่อนอยู่ ก็สามารถไล่พวกมันได้ เนื่องจากสบู่และพริกไทยมีกลิ่นแรงนั่นเอง และจุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งที่พวกมัน เจอเมื่อไหร่เป็นต้องเผ่นหนี ก็คือ แสงสว่าง ลูกเหม็น เปลือกส้มหรือเปลือกมะนาว และสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน จำพวกตะไคร้หอม ใบกระวาน หรือสะระแหน่ ก็เป็นสิ่งที่พวกมันเกลียดสุดๆ ด้วยเช่นกัน แต่ที่สำคัญคือเราควรรักษาความสะอาดภายในบ้านให้เรียบร้อย ทำให้ที่อยู่อาศัยโล่งอย่าให้มีมุมอับ และควรจัดเก็บอาหารให้มิดชิด รวมถึงกำจัดขยะและเศษอาหารให้ถูกวิธีด้วย วันดีคืนดีถ้าเจอไข่แมลงสาบในบ้านขึ้นมาล่ะก็ กรมอนามัยแนะนำว่าต้องรีบเผาทันทีเพื่อลดการขยายพันธุ์ของมัน

บทที่ 5 | ฟาร์มแมลงสาบ

เอาเข้าจริง แมลงสาบก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย เพราะข้อดีก็มีเหมือนกัน ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการคณะชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสและผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงสาบกล่าวว่า ถ้าวันหนึ่งแมลงหายไปจากโลกนี้อาจจะทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลได้ เนื่องจากในธรรมชาติ แมลง (สาบ) นั้นเป็นแหล่งอาหารสำคัญของนกและสัตว์กินแมลงทั้งหลาย ซึ่งถ้าไม่มีพวกมัน สัตว์อื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

อีกทั้งแมลงสาบชอบกินอินทรียวัตถุที่กำลังเน่าสลายที่เป็นแหล่งสะสมไนโตรเจนจำนวนมาก ดังนั้น การกิน ย่อย และขับถ่ายของเสียของพวกมันจึงเป็นการปล่อยไนโตรเจนออกสู่โลกภายนอก ซึ่งไนโตรเจนเหล่านี้จะไปอยู่ในดินและถูกพืชใช้ประโยชน์ต่อไป เพราะฉะนั้น ถ้าโลกไม่มีแมลงสาบ สุขภาพของต้นไม้ในธรรมชาติก็จะโดนทำลายด้วยเช่นกัน

แม้จะเป็นตัวแสบในวงการความสกปรก แมลงสาบกลับได้รับฉายาว่าเป็น ‘นักย่อยซาก’ ที่เก่งกาจตัวหนึ่ง เพราะพวกมันคอยจัดการซากพืช ซากสัตว์ และของเสียในธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ แมลงสาบจึงถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมกำจัดอาหารเหลือทิ้งในเมืองจี่หนาน มณฑลซานตงของจีน โดยโรงงานแห่งนี้แปลงพื้นที่ขนาด 60,000 ตารางเมตรในศูนย์กำจัดขยะให้เป็นที่อยู่ของแมลงสาบกว่า 1,000 ล้านตัว ซึ่งหน้าที่หลักของพวกมันคือกำจัดเศษอาหารเหลือทิ้งของเมืองจี่หนานได้ถึงวันละ 15 ตัน นอกจากทำหน้าที่เป็นนักย่อยสลายแล้ว มันยังถูกนำไปเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในอาหารสัตว์ที่เต็มไปด้วยโปรตีนให้เหล่าหมู เห็ด เป็ด ไก่ กินอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทยา Gooddoctor ในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนของจีน ได้ทำฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงสาบสายพันธุ์อเมริกันกว่า 6,000 ล้านตัวต่อปี เพื่อใช้ผลิตเป็นยาจีนแผนโบราณ ที่มีสรรพคุณรักษาแผลร้อนใน แผลในลำไส้ และแผลบนผิวหนัง ทำให้ปัจจุบันธุรกิจเลี้ยงแมลงสาบกลายเป็นกระแสและสร้างเม็ดเงินมหาศาลในจีนไปแล้ว

อีกทั้งยังมีผลงานการวิจัยจากนานาชาติ ที่ตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสาร International Union of Crystallography ว่า แมลงสาบเต่าทองแปซิฟิก ที่เป็นแมลงสาบชนิดเดียวที่ให้กำเนิดลูกเป็นตัว ภายในตัวของมันจะมีผลึกโปรตีนหน้าตาคล้ายก้อนนม โดยในผลึกโปรตีนนั้นมีสารอาหารสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งมีทั้งโปรตีน ไขมัน และน้ำตาล พร้อมด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับร่างกาย และเจ้าผลึกโปรตีนนี้มีสารอาหารมากกว่านมควาย 3 เท่า และมากกว่านมวัวถึง 4 เท่าเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้นผลึกโปรตีนดังกล่าวยังปล่อยสารอาหารได้อย่างช้าๆ ขณะที่ถูกย่อย เหล่านักวิจัยจึงนำมาพัฒนาต่อในห้องทดลองเพื่อใช้เป็นอาหารแห่งโลกอนาคต เพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤตขาดแคลนอาหาร หรือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคก็อาจจะเป็นไปได้


Sources : 
Insider | https://bit.ly/3wy50Qz
Kapook | https://bit.ly/3cIRlOL, https://bit.ly/3vxm3AX
Matichon Online | https://bit.ly/3zx0C65
MGR online | https://bit.ly/3zt8FRH
Pest World |https://bit.ly/35AZFff
Rama Channel | https://bit.ly/3iThr5D
Roach Expert | https://bit.ly/2Sy9dVO
The Guardian | https://bit.ly/3xs3VK1
WorkpointTODAY | https://bit.ly/3gtxEwC
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ | https://bit.ly/3zrLhE5
กรมอนามัย | https://bit.ly/2S4Os3J
คม ชัด ลึก | https://bit.ly/3zwOBOe
มูลนิธิโลกสีเขียว | https://bit.ly/3zwlPx6

Thai PBS | https://bit.ly/3xsgwNw

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.