เสาไฟฟ้ากรุงเทพฯ เมื่อไหรจะถูกแก้ไข? - Urban Creature

เชื่อว่าทุกคนเคยประสบปัญหากับสายไฟฟ้าที่ห้อยย้อยลงมาอย่างไร้ทิศทาง อาจกลายเป็นความลับที่อยู่ในใจ ที่ไม่ว่าจะหาทางออกเท่าไหร่ก็ยากที่จะหาคำตอบ เราจึงพาไปตามหาคำตอบชวนสงสัยกับ เสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าเพื่อนรักเจ้าปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้น การวางสายไฟในแต่ละเส้น จนถึงการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตให้หายข้องใจกัน

ทำไมรกจัง ?

‘นายชาญ ปัทมะวิภาค’ ผอ. ฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้กล่าวเอาไว้ว่า ที่สายไฟรวมกันเป็นกระจุกแบบนี้ เพราะนโยบายการใช้เสาพาดร่วมกัน ซึ่งเมื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันได้จากเสาต้นเดียวกัน จะช่วยลดการลงทุนไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน แต่ต้องมีกฎความปลอดภัยที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน ดังนี้

1. มีระดับความสูงไม่เกินมาตรฐานกำหนด 2. ขนาดของสายสื่อสารรวมทุกเจ้าต่อเสาไฟฟ้า 1 ต้น มีเส้นผ่านศูนย์กลาง และความสูงไม่เกินที่กำหนด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่กีดขวางการทำงานของการไฟฟ้าและจำกัดน้ำหนักของสาย และผู้ร่วมใช้เสาไฟฟ้าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดูแลบำรุงรักษาร่วมกันด้วย

รวมถึงอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับเสาไฟฟ้า หลายคนอาจเคยได้ยินว่า เสาไฟฟ้า 1 ต้น มีมูลค่าที่ต้องชดใช้ค่อนข้างสูง โดยหนึ่งต้นอยู่ที่ประมาณ 50,000 – 150,000 ซึ่งขึ้นอยู่ขนาดความสูง เเละกำลังไฟของเสาไฟฟ้าต้นที่เสียหาย ดังนั้นหากคุณขับรถชนเสาไฟฟ้าไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของใคร ของหลวง ของราชการ หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คุณก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด

เสาไฟฟ้ามีสายอะไรบ้าง ?

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ‘เสาไฟฟ้า’ ที่เราเห็นกันมีหลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ เสาไม้ เสาคอนกรีต และเสาเหล็ก ซึ่งการใช้งานจะขึ้นอยู่กับสถานที่และการใช้งาน ซึ่งเสาไฟฟ้าทำหน้าที่ในการรองรับการติดตั้งสายไฟให้อยู่เหนือพื้นดิน ด้วยวิธีติดตั้งถ้วยยึดจับสายไฟฟ้ายึดกับตัวเสาไฟ ในส่วนของเสาไฟฟ้าก็ต้องมีความแข็งแรงและมั่นคง และต้องรองรับน้ำหนักได้ดี ไม่หักโค่นง่าย โดยขนาดเสาไฟฟ้าที่เราเห็นเป็นส่วนใหญ่มีความสูงตั้งแต่ 8 – 10 เมตร ไปจนถึง 22 เมตรตามลำดับซึ่งเสาไฟฟ้าแต่ละขนาดก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ตามลักษณะพื้นที่และการใช้งานเป็นหลัก ซึ่งเสาไฟฟ้า 1 ต้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้

ส่วนที่ 1 สายไฟฟ้าแรงสูง คือ สายไฟที่อยู่บนสุดของเสา เพราะส่วนใหญ่เป็นสายตัวนำอะลูมิเนียมที่ไม่มีฉนวนหุ้ม หรือมีเพียงฉนวนหุ้มบางๆ ซึ่งสายไฟฟ้าแรงสูงนี้ไม่ค่อยปลอดภัย และไม่ควรเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟอยู่ เราจะเห็นเสาประเภทนี้ในพื้นที่โล่งกว้างอยู่ไกลจากเขตชุมชน และที่สำคัญต้องอยู่สูงจากพื้นดินมากกว่า 10 เมตรขึ้นไป

ส่วนที่ 2 สายไฟฟ้าแรงต่ำ คือ สายไฟฟ้าที่อยู่ชั้นถัดลงมา สายไฟฟ้าแรงสูงส่วนใหญ่ทำจากทองแดง เป็นประเภทที่ใช้กันตามอาคารบ้านเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะทำหน้าที่ส่งกระแสไฟแรงที่ต่ำลง ซึ่งสายไฟฟ้าเหล่านี้จะพบเห็นในเขตชุมชนเป็นส่วนใหญ่

ส่วนที่ 3 สายสื่อสาร คือ สายที่อยู่ชั้นล่างสุดของเสาไฟฟ้า ประกอบไปด้วยสายโทรศัพท์ สายเคเบิลทีวี สายอินเทอร์เน็ต ฯลฯ จากหลากหลายผู้ประกอบการ นั่นจึงทำให้เราเห็นว่าในบางพื้นที่ สายสื่อสารเหล่านี้มีจำนวนมาก

*ทั้งหมดนี้คือส่วนประกอบหลัก ที่เราจะเห็นกันได้บ่อยในเมืองและพื้นที่ชุมชน ซึ่งส่วนประกอบของเสาไฟฟ้านั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้รับผิดชอบติดตั้งในพื้นที่ด้วย*

การวางเสาไฟกับพื้นที่รอบข้าง

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเดินไปไหนทั้งนอกเมืองและในเมือง หลายคนอาจพบเจอปัญหาคล้ายๆ กัน ทั้งสายที่ห้อยต่ำ ระโยงระยาง และอยู่ใกล้กับประชาชน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมาได้ แท้จริงแล้วการจะสร้างเสาไฟฟ้าสักต้น ต้องมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ลักษณะของพื้นที่ตั้ง ความต้องการของประชาชน และสิ่งที่สำคัญที่ขาดไปไม่ได้คือระยะของเสาไฟฟ้ากับอาคารบ้านเรือน ตึก สะพานลอย หรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในเมือง

ซึ่งสายไฟฟ้าที่เป็นอันตรายคือสายไฟฟ้าแรงสูง เพราะส่วนใหญ่จะไม่มีฉนวนหุ้ม หรือหุ้มบางๆ เท่านั้น ถือว่าไม่ปลอดภัยหากสัมผัส แต่การหุ้มฉนวนที่ปลอดภัยนั้นจะต้องมีฉนวนที่หนา มีการพันทับด้วยสายชีลด์ (Shield) และมีเปลือกนอกอีกชั้นหนึ่ง จึงทำให้มีสายไฟมีน้ำหนักมากจึงไม่สามารถพาดไปบนเสาไฟฟ้าทั่วไปได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงให้สูงกว่าปกติ

ทางการไฟฟ้านครหลวงจึงมีการกำหนดระยะห่างที่ปลอดภัย ระหว่างสายไฟฟ้าแรงสูงกับอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ป้ายโฆษณา มีการกำหนดไว้ดังนี้

1. ขนาดแรงดันไฟฟ้า 115,000 โวลต์ อาคารระเบียง 2.30 เมตร ป้ายโฆษณา 2.30 เมตร
2. ขนาดแรงดันไฟฟ้า 69,000 โวลต์ อาคารระเบียง 2.13 เมตร ป้ายโฆษณา 1.80 เมตร
3. ขนาดแรงดันไฟฟ้า 12,000 – 24,000 โวลต์ อาคารระเบียง 1.80 เมตร ป้ายโฆษณา 1.50 เมตร สะพานลอย 2.40 เมตร

โดยระยะดังกล่าวไม่ครอบคลุมการทำงานนอกตัวอาคาร หรือบนระเบียงเปิดที่อาจมีการยื่นวัตถุออกนอกตัวอาคาร ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานระยะห่างที่ปลอดภัยสำหรับการทำงาน หรือต้องมีการหุ้มหรือคลุมสายเพื่อความปลอดภัย แต่ก็มีข้อยกเว้นหากสายไฟฟ้าบางชนิดที่มีการหุ้มฉนวนเป็นพิเศษ อาจมีระยะห่างต่ำกว่ามาตรฐานได้แต่ต้องมีการปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

เอาลงดินแบบไหนได้บ้าง ?

ในบ้านเรามีบางพื้นที่ที่นำสายไฟฟ้าลงดินบ้างแล้ว เคยสงสัยไหมว่าการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินมีวิธีการอย่างไร ?

การนำไฟฟ้าลงดินจะช่วยให้ระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่มั่นคงและปลอดภัย ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติ รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น อุบัติเหตุจากรถชนเสาไฟฟ้า ฝนตกลมแรง ซึ่งอาจพัดกิ่งไม้หรือป้ายโฆษณามาเกี่ยวสายไฟฟ้าทำให้เกิดความเสียหายและอันตรายได้ แถมยังรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เพราะระบบสายไฟฟ้าใต้ดินมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบสายไฟฟ้าอากาศ จึงสามารถรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสังคมเมือง

ซึ่งในประเทศไทยก็เริ่มมีการนำสายไฟลงดินแล้ว โดยมีด้วยกัน 4 วิธี แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และการใช้งานดังนี้

1. เปิดหน้าดิน (Open Cut) เป็นการขุดเจาะถนน เปิดหน้าดินลงไปอย่างน้อย 80 ซม. เพื่อวางท่อร้อยสายไฟฟ้า จากนั้นก็จะดำเนินการคืนสภาพถนนให้เหมือนเดิม

2. การดึงท่อ (Horizontal Directional Drilling) ใช้สำหรับวางสายไฟฟ้าแรงดันกลาง เพื่อจ่ายไฟจากบ่อพักไปให้ผู้ใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยวิธีการเจาะและคว้านเพื่อลากท่อกลับมายังตำแหน่งที่ต้องการ

3. การดันท่อ (Pipe Jacking) คือ การสร้างบ่อพักใต้พื้นผิวจราจร และดันท่อจากบ่อพักหนึ่งไปอีกบ่อพักหนึ่ง เพื่อวางท่อร้อยสายไฟฟ้าระบบแรงสูงและแรงปานกลาง

4. การก่อสร้างอุโมงค์ (Tunneling) คือ การก่อสร้างเพื่อวางระบบสายส่ง ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีย่อยไฟฟ้าและวางสายป้อนสำหรับจำหน่ายไฟฟ้า

หากตามไปดูราคาต้นทุนการติดตั้งสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร เทียบกันระหว่างแบบเดิมและแบบลงดิน พบว่าต้นทุนการลากสายไฟฟ้าบนอากาศ อยู่ที่หลักสิบล้านบาทต่อกิโลเมตร ส่วนต้นทุนการก่อสร้างใต้ดินอยู่ที่ 300 – 400 ล้านบาทต่อกิโลเมตร

4 พื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มเอาสายไฟลงดิน

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้เริ่มมีการนำสายไฟฟ้าลงดิน จะมีที่ไหน และมีความคืบหน้าไปถึงไหนบ้างแล้วตามไปดูกัน

สำหรับการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินของกทม. ได้มีการแยกแผนดำเนินการออกจากแผนการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เนื่องจากปัญหาสายสื่อสารระโยงระยาง รกรุงรังเป็นเรื่องเร่งด่วน และจำเป็นต้องดำเนินการในทันที อีกทั้งลักษณะการก่อสร้างเพื่อวางท่อร้อยสายสื่อสาร และสายไฟฟ้า มีความแตกต่างกันด้วย

โดยทางคณะรัฐมนตรีมีมติไฟเขียวให้การไฟฟ้านครหลวง ลงทุนแผนปฏิบัติการเอาสายไฟฟ้าลงดินเร่งด่วน ภายใต้วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,673.40 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 2,500 ล้านบาท และเงินรายได้ของการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 1,173.40 ล้านบาท

ซึ่งมีการเริ่มวางท่อร้อยสาย (Microduct) โดยนำเทคโนโลยีท่อร้อยสาย จำนวนตั้งแต่ 14 – 21 ไมโครดักท์ มาตรฐานเดียวกับมหานครอื่นๆ ทั่วโลก มาใช้ในการดำเนินการบนถนนสายหลักและสายรองทั่วกรุงเทพฯ แบ่งการดำเนินการเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ ตอนเหนือ, กรุงเทพฯ ตะวันออก, กรุงธนฯ เหนือ, และกรุงธนฯ ใต้ และกำลังมีแผนระยะต่อไปในอีกหลายพื้นที่

นอกจากกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดก็มีแผนพัฒนานำสายไฟลงดินเหมือนกัน ‘จังหวัดตรัง’ เป็นจังหวัดแรกของไทย ที่นำสายไฟฟ้าลงดิน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เพื่อปรับภูมิทัศน์ให้เป็นระเบียบ สวยงาม เช่นกันกับ ‘จังหวัดนครราชสีมา’ ก็มีการแก้ปัญหาสายไฟฟ้าและสายเคเบิลที่รกรุงรังที่น่าสนใจเช่นกัน

โดยจะใช้วิธีการมัดรวบสาย เป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร ครอบคลุมตั้งแต่ถนนเส้นห้าแยกไฟฟ้าจังหวัดจนถึงบริเวณเส้นหลักเมือง โดยโครงการนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะเอาทุกระบบลงใต้ดินให้หมด ไม่เฉพาะสายไฟฟ้า แต่จะรวมไปถึงสายสื่อสารทั้งหมด ซึ่งการไฟฟ้าก็จะดำเนินการสร้างท่อเพื่อนำสายสื่อสารลงพร้อมกัน เรียกว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของการพัฒนาระบบโครงสร้างเมืองเลยทีเดียว


Sources :
https://bit.ly/2PlsjJE
https://bit.ly/32sYGM4
https://bit.ly/2HRPB5M
https://bit.ly/38PEQwK
https://bit.ly/2Pj82EG
https://bit.ly/2TaLqav
https://bit.ly/2unVW5S
https://bit.ly/2Ph7jE8

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.