ตามติด ช่างไฟฟ้า ลุยภารกิจแก้ไฟให้ประชาชน - Urban Creature

ช่างไฟฟ้า นักปีนเสาไฟที่มีภารกิจแก้ไฟให้ประชาชนได้ใช้อย่างด่วนจี๋ ซึ่งครั้งนี้ ‘คุณเต้-พิพัฒน์พงษ์ สุรพิพิธ’ พนักงานช่างระดับ 3 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาย่อยอำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา จะพาเราขึ้นกระบะออกไปปีนเสา ซ่อมไฟด้วยกัน พร้อมทำความเข้าใจว่ากว่าจะเป็นช่างไฟฟ้าต้องผ่านอะไรมาบ้าง แล้วอาชีพค่อนข้างอันตรายนี้เขาทำงานและฝึกฝนกันยังไง ?


ก่อนเริ่มภารกิจ: ช่างไฟไม่ใช่ใครก็เป็นได้ 


กว่าจะเป็นช่างไฟไม่ใช่แค่เดินเข้ามาสมัครก็เป็นได้ เพราะอาชีพที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตรายนี้ ต้องเรียนจบวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงช่างไฟฟ้า (ปวส.) หรือจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตเท่านั้น ซึ่งถ้าหากใครไม่ได้จบโดยตรง จะต้องไปเรียนเพิ่มเติมให้ได้วุฒิการศึกษาที่กำหนด เพื่อใช้สอบเข้าทำงานช่างไฟฟ้านั่นเอง 

เหมือนอย่างที่ ‘คุณเต้-พิพัฒน์พงษ์ สุรพิพิธ’ พนักงานช่างระดับ 3 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาย่อยอำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทราที่พาเราขึ้นรถกระบะลงพื้นที่ตามติดภารกิจช่างไฟครั้งนี้ ที่ไม่ได้เรียบจบตรงสาย เพราะครอบครัวอยากให้เรียนรัฐศาสตร์เพื่อรับราชการ แต่เมื่อได้ลองทำงานกลับพบว่าไม่ใช่ เลยไปสมัครเป็นลูกจ้างช่างไฟ เก็บเกี่ยวประสบการณ์นานถึง 4 ปี ซึ่งระหว่างนั้นคุณเต้ไปเรียนเสริมวุฒิปวส.ไฟฟ้าที่วิทยาลัยการอาชีพบางปะกงร่วมปีกว่า และเมื่อมีโอกาสสอบเข้า ด้วยความขยัน และชอบจริงๆ ทำให้เขาสอบติดบรรจุเป็นพนักงานช่างไฟ

ภารกิจที่ 1: เตรียมพร้อมแก้ไฟ


‘แก้ไฟ’ คือภาษาที่ช่างไฟใช้กันเมื่อต้องออกไปซ่อมไฟฟ้าที่ชำรุด ซึ่งกว่าจะออกแก้ไฟได้ ช่างไฟจะต้องเข้าฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่ทางการไฟฟ้ากำหนด เช่น การอบรมพื้นฐานช่างสาย และการอบรมขึ้นเสาแก้ไฟ

นอกจากนี้ทักษะเฉพาะตัวช่างไฟฟ้า คือสิ่งติดตัวเฉพาะคนที่ต้องอดทนใช้เวลาฝึกฝนอย่างหนักหน่วง ซึ่งสิ่งแรกที่ควรมี คือการเรียนรู้ความปลอดภัย ตามด้วยทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าและการซ่อมบำรุง มีความแม่นยำในเทคนิค ใส่ใจรายละเอียดทุกมุมมอง ไปจนถึงการให้คำปรึกษาแนะนำระหว่างปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่

“ช่างไฟต้องฝึกให้คล่องแคล่ว ต้องรู้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ไฟดับแบบนี้ต้องแก้อย่างไร ตรวจสอบอย่างไร นำทักษะที่เรียนมารวมกับประสบการณ์การทำงาน เพื่อซ่อมแซมไฟให้ประชาชนได้ทันเวลาใช้งาน” คุณเต้บอกกับเรา ก่อนพาไปลงลึกเรื่องความปลอดภัยของช่างไฟฟ้าที่คือหัวใจสำคัญของการทำงาน

ภารกิจที่ 2: ปลอดภัยไว้ก่อน


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ช่างไฟฟ้า’ เป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายพอสมควร ก่อนลงพื้นที่จะต้องเตรียมอุปกรณ์ประจำกายช่างไฟให้พร้อม เพื่อความปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน ซึ่งจะแบ่งเป็น อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย และอุปกรณ์ใช้งานซ่อม

เริ่มกันที่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยที่มาในรูปแบบชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment) หรือเรียกสั้นๆว่า พีพีอี (PPE) ที่จะคอยประกันความปลอดภัยให้ช่างไฟ ซึ่งประกอบไปด้วย

– หมวกนิรภัย : สำหรับป้องกันศีรษะจากการกระแทกหรือของตกใส่
– ถุงมือกันไฟฟ้า : สำหรับสวมขณะแก้ไฟ จะมีสองชั้นคือด้านในถุงมือยาง และด้านนอกคือถุงมือหนัง
– รองเท้ากันอันตรายจากไฟฟ้า :  สำหรับสวมใส่ขณะปีนเสาไฟ ซึ่งตัวรองเท้าสามารถป้องกันไฟแรงต่ำได้ หากตัวรองเท้าไม่ชื้น
– เข็มขัดนิรภัยพร้อมสายรัดกันตก : สำหรับสวมใส่เมื่อต้องปีนขึ้นเสาไฟฟ้า 
– สเต็ปปีนเสา หรือขาปีนเสาคอนกรีต : สำหรับใช้ผูกติดรองเท้าเพื่อใช้ปีนเสาไฟฟ้า

นอกจากนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยังนำวิธีการฝึกการหยั่งรู้ระวังอันตราย (Kiken Yochi Training:KYT) ของประเทศญี่ปุ่นมาใช้ เพื่อเป็นการย้ำคิดก่อนปฏิบัติงานจริง ฝึกให้สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้างานได้ ซึ่งสำหรับการปฏิบัติการหยั่งรู้ระวังอันตรายของช่างไฟฟ้านั้น เริ่มจากหลังรับเรื่องว่าเกิดความเสียหายตรงจุดไหน จะออกไปดูหน้างานเพื่อตรวจสอบจุดอันตราย ก่อนเริ่มวางแผนแก้ไข พร้อมพูดย้ำเตือนกันเสมอว่า อันตรายตรงจุดไหน ต้องคอยระวังอย่างไร 

ภารกิจที่ 3: วอร์ 1 เรียกวอร์ 2 ถึงเวลาปีนเสา 


คำร้องมา ได้เวลาวางแผน ! ไฟดับ ไฟรั่ว สายไฟชำรุด เสาไฟล้ม ทุกระบบไฟฟ้าที่ขัดข้องสามารถแจ้งเข้ามาหาช่างไฟฟ้าได้เลย ซึ่งผู้ใช้ไฟสามารถเข้ามาแจ้งเรื่องได้โดยตรงที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และหน่วนอื่นๆ โทรเข้า PEA Call Center 1129 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน PEA Smart Plus พร้อมรายละเอียดหมายเลขผู้ใช้ไฟ 12 หลักที่จดได้จากบิลค่าไฟฟ้า ข้อมูลผู้แจ้งเหตุเพื่อประสานงาน และสาเหตุเบื้องต้นที่คาดการณ์ไว้ให้กับเจ้าหน้าที่รู้

เมื่อได้รับแจ้งเรื่องจากผู้ใช้ไฟ ทีมช่างไฟฟ้าซึ่งประกอบด้วยคุณเต้ ในฐานะพนักงานช่างไฟระดับ 3 และคนงานอีก 2 คนผู้มากประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษจะเตรียมพร้อมโดดขึ้นกระบะส้ม ! เพื่อออกไปหน้างาน เราก็ไม่พลาดขึ้นท้ายกระบะท้าลมไปกับทีมช่างไฟฟ้าด้วย ซึ่งเมื่อถึงจุดเกิดเหตุคุณเต้ ในฐานะพนักงานช่างระดับ 3 ก็เริ่มปฏิบัติการแก้ไฟตามหลัก 4 ขั้น

ขั้นที่ 1 วางแผนให้เนี๊ยบ : เมื่อทีมช่างไฟฟ้าตรวจพบความผิดปกติของการจ่ายกระแสไฟฟ้า หรือได้รับแจ้งจากผู้ใช้บริการ จะเร่งวางแผนการทำงาน พร้อมคว้าอุปกรณ์ขึ้นกระบะที่มีอุปกรณ์บางอย่างติดรถเสมอ เช่น  ฟิวส์แรงต่ำ ฟิวส์แรงสูง หลอดต่อ และสายไฟ ไปยังจุดเกิดเหตุอย่างด่วนจี๋

ขั้นที่ 2 เร่งหาจุดขัดข้อง : สำรวจสายไฟฟ้าที่ไม่ว่าจะยาวหลายสิบกิโลเมตรก็ต้องเช็กให้ละเอียดถี่ถ้วน

ขั้นที่ 3 ลงมือแก้ไข : หลังสำรวจแล้วไม่ได้เสียหายหนัก ทีมช่างไฟฟ้าจะรีบจัดการแก้ไขอย่างฉับไว แต่หากเป็นความเสียหายนอกเหนือความคาดหมายอย่างเสาไฟล้ม หรือหัก อาจต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น แต่คุณเต้บอกว่าจะพยายามซ่อมให้เสร็จภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟก่อน แล้วค่อยจัดการสายสัญญาณสื่อสารทีหลัง

ขั้นที่ 4 จ่ายไฟออกไปหาคุณ : สุดท้ายและท้ายสุด เมื่อทีมช่างไฟซ่อมไฟเสร็จก็ได้เวลาเปิดกระแสไฟฟ้าคืนสู่บ้านเรือน โทรแจ้งให้ประชาชนทราบ พร้อมรีเช็คผลการทำงาน

หลังจากปีนขึ้นเสาไฟฟ้าจนซ่อมเสร็จ เมื่อคุณเต้ลงมาจนเท้าเหยียบพื้นและขึ้นรถกระบะกลับ ระหว่างทางเราถามไถ่เพิ่มเกี่ยวกับอุปสรรคในการทำงานของช่างไฟฟ้า เพราะภาพที่เราได้เห็นก่อนหน้าสุดแสนจะโหด ซึ่งช่างไฟผู้มีไฟแรงเวอร์ก็ให้คำตอบว่า ‘สภาพอากาศ’ คืออุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ต้องฝ่าฟัน เพราะหากวันไหนร้อนจัดต้องซ่อมไฟกลางแดดเปรี้ยง ก็จะแสบตาเมื่อต้องปีนไปอยู่บนเสาไฟ หรือหากฝนตกหนักมากๆ จะไม่สามารถออกไปแก้ไขได้ เพราะเมื่ออุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ เปียกน้ำ ก็จะทำให้ความต้านทานไฟน้อยลงจนถึงไม่สามารถป้องกันกระแสไฟ อาจทำให้ไฟดูดได้ หรือบางทีทำงานตอนกลางคืนก็จะทำให้การมองเห็นน้อยลง 

ภารกิจที่ 4: คำร้องฮิต – ทำไมหน้าร้อน ไฟแพงจัง ?


อีกหนึ่งภารกิจของพนักงานช่างไฟฟ้า คือการรับคำร้องจากประชาชน และแน่นอนว่าเรื่องยอดฮิตคือ “หน้าร้อนทีไร ทำไมค่าไฟแพง ?” ซึ่งคุณเต้ให้คำตอบเราว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิจะระอุกว่าฤดูไหนๆ โดยเฉพาะแดดที่แผดเผายิ่งเพิ่มดีกรีความร้อนเหมือนซ้อมตกนรก ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับค่าไฟที่สูงขึ้น เช่น เมื่อเราเปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงหน้าร้อนให้ร่างกายรู้สึกเย็นฉ่ำ แต่อาจลืมไปว่าข้างนอกนั้นร้อนแค่ไหน 

โดยเฉพาะบ้านหรืออาคารที่มีกระจกเยอะ ยิ่งเป็นเหมือนแรงดึงดูดความร้อนเข้าตัวบ้าน เครื่องปรับอากาศก็จะยิ่งทำงานหนัก ซึ่งจะทำให้เครื่องปรับอากาศไม่ตัด หรืออย่างตู้เย็น เมื่อเข้าหน้าร้อนอาจเปิดดื่มน้ำบ่อยขึ้น คอมเพรซเซอร์ยิ่งทำงานหนัก รวมถึงตำแหน่งการตั้งตู้เย็น ก็ควรอยู่ในร่มที่ห่างไกลแสงแดด เพราะหากแดดส่องถึง ตู้เย็นยิ่งทำงานหนัก ก็จะยิ่งกินไฟ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ควรตั้งในที่ร่ม เพราะความร้อนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มอเตอร์ทำงานหนักขึ้น และอาจพังง่าย 

อีกหนึ่งคำร้องที่อาจไม่ได้มาบ่อย แต่เราอยากแนะนำให้รู้คือ ‘มิเตอร์ชำรุด’ เพราะตามหลักของการไฟฟ้าฯ แล้ว หากมิเตอร์ไฟเกิดอาการช็อต น้ำเข้า ทางทีมช่างไฟฟ้าจะเปลี่ยนให้ฟรี แต่หากกระจกครอบมิเตอร์แตก รวมถึงใช้ไฟเกินขนาดที่แต่ละบ้านขอ ซึ่งปกติตอนนี้อยู่ที่ 15 แอมป์ จนทำให้ขดลวดด้านในไหม้ เกิดเขม่าดำจนต้องเปลี่ยนมิเตอร์ จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเองในราคา 749 บาทรวมภาษี โดยวิธียื่นคำร้องเกี่ยวกับมิเตอร์ไฟฟ้า หากเป็นมิเตอร์ทั่วไปที่อิงกับทะเบียนบ้านสามารถใช้บัตรประชาชนได้เลย แต่หากเป็นมิเตอร์ชั่วคราว คือไม่มีเลขที่บ้าน เช่น การทำเกษตรที่ชาวบ้านอยากจะใช้ไฟในการตัดน้ำ ต้องนำโฉนดมาแจ้งด้วย

ภารกิจที่ 5: รู้ไว้ใช่ว่า ค่าไฟคิดแบบไหน


ปิดท้ายด้วยภารกิจสุดท้ายที่ทางทีมช่างไฟฟ้าไม่ได้รับผิดชอบหลัก อย่างการคิดค่าไฟ แต่เราขอเล่าถึงเพื่อให้คนอ่านได้ทำความเข้าใจ เผื่อเอาไว้ใช้เช็คมิเตอร์ด้วยตัวเอง โดยค่าไฟจะถูกคิดด้วย ‘ระบบก้าวหน้า’ ซึ่งเป็นหลักที่ทางการไฟฟ้าฯ จะกำหนดขั้นบันไดการใช้ไฟฟ้าตามประเภทต่างๆ แต่เราขอยกตัวอย่างการกำหนดของบ้านอยู่อาศัยที่ส่วนใหญ่จะใช้กำลังไฟไม่เกิน 5 แอมแปร์ 230 โวลต์ 1 เฟส 2 สายมาให้ได้รู้ ผ่านการใช้ 2 สูตร

1. ค่าไฟฟ้าฐาน = จำนวนยูนิต X อัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วย
2. ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่าไฟฟ้าผันแปร (ft) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) =ค่าไฟฟ้า

ค่าไฟฐานสำหรับใช้ในบ้านเรือนจะแบ่งตามหน่วยใช้งาน นั่นคือ
– การใช้ไฟฟ้า 0 -15 หน่วย = 2.3488 บาท/หน่วย
– การใช้ไฟฟ้า 16-25 หน่วย = 2.9892 บาท/หน่วย
– การใช้ไฟฟ้า 26-35 หน่วย = 3.2405 บาท/หน่วย
– การใช้ไฟฟ้า 36-100 หน่วย = 3.6237 บาท/หน่วย
– การใช้ไฟฟ้า 101-150 หน่วย = 3.7171 บาท/หน่วย
– การใช้ไฟฟ้า 151-400 หน่วย = 4.2218 บาท/หน่วย
– การใช้ไฟฟ้า 400 หน่วยขึ้นไป = 4.2218 บาท/หน่วย

ส่วนค่าไฟฟ้าผันแปร (ft) จะอยู่ที่ -9.12 สตางค์/หน่วย และภาษีมูลค่าเพิ่มคิดจากการนำค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า ft x 7 และหาร 100

ก่อนเลิกภารกิจตามติดช่างไฟฟ้า คุณเต้ พนักงานช่างระดับ 3 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาย่อยอำเภอราชสาส์นทิ้งท้ายกับเราว่า

“ทุกครั้งที่ได้รับแจ้งเหตุจากปลายสาย ทีมงานทุกคนพร้อมแสตนด์บายเสมอ และรีบเดินทางไปยังที่เกิดเหตุทันที เพื่อแก้ไฟโดยด่วน เพราะเข้าใจดีว่าไฟฟ้าคือชีวิต และทุกวินาทีที่ไฟดับจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน” 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.