สำรวจศิลปวัฒนธรรมโบราณและร่วมสมัยที่ ‘ราชเทวี’ - Urban Creature

เราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่เคยมาเยือนกรุงเทพฯ หรืออาศัยอยู่ในเมืองนี้ คงรู้จักและเคยได้ยินชื่อเขต ‘ราชเทวี’ ย่านธุรกิจใจกลางเมืองที่คั่นกลางระหว่างสองจุดหมายปลายทางสำคัญอย่าง ‘พญาไท’ และ ‘สยาม’ ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและไลฟ์สไตล์ของคนเมือง เพราะเป็นทั้งจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และที่ตั้งของศูนย์การค้าทันสมัยมากมาย ราชเทวีจึงกลายเป็นโลเคชันโดดเด่นและน่าอยู่อาศัยแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ไปโดยปริยาย

ทว่า ราชเทวีไม่ได้เป็นแค่ ‘ทำเลทอง’ กลางเมืองเท่านั้น แต่งานสร้างสรรค์โลกสมัยใหม่หลายรูปแบบก็มีจุดเริ่มต้นอยู่ในย่านริมคลองแสนแสบแห่งนี้เช่นกัน 

วันนี้ Urban Creature ขออาสาเป็นไกด์พาทุกคนไปทัวร์ย่านนี้ในมุมมองที่ต่างไปจากเดิม ผ่านการสำรวจ Art & Culture ที่แฝงตัวอยู่ในอณูของย่าน อย่างกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตลายเส้นการ์ตูนญี่ปุ่นที่โอบล้อมสวนสาธารณะสีเขียวใจกลางเมือง และอาร์ตสตูดิโอที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเยียวยาจิตใจและเชื่อมโยงคนในสังคมเข้าหากัน เป็นศิลปะยุคใหม่ที่เหมาะสำหรับคนที่อยากเปลี่ยนบรรยากาศ ออกจากแกลเลอรี และมาเสพงานสร้างสรรค์กลางแจ้ง รวมไปถึงคนที่อยากเปิดประสบการณ์ใหม่จากการลงมือทำศิลปะด้วยตัวเอง

และถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ลึกลงไป ราชเทวีถือเป็นย่านเก่าแก่ที่อยู่คู่กรุงเทพมหานครมายาวนาน ใต้ภาพความเป็นเมือง แหล่งสังสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ที่นี่คือที่ตั้งของชุมชนมุสลิมแขกจามอายุกว่า 230 ปี ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องภูมิปัญญาการทอผ้าคุณภาพดีมายาวนาน และยังมีมัสยิดแห่งแรกของฝั่งพระนคร ที่เป็นเสมือนแลนด์มาร์กของชุมชนแห่งนี้ เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่ควรค่าแก่การไปเยือน และอนุรักษ์ไว้ ราชเทวีในสายตาของเราจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นย่านหนึ่ง ที่ศิลปวัฒนธรรมของโลกเก่าเดินทางข้ามกาลเวลามาบรรจบกับงานสร้างสรรค์ร่วมสมัย

ข้อดีของราชเทวีก็คือโลเคชันที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง คนทุกเพศทุกวัยเดินทางมาได้โดยระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ แถมยังเดินได้ยาวๆ หมดห่วงเรื่องการปล่อยมลพิษจากการใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นจุดท่องเที่ยวที่มีเรื่องราวน่าสนใจ อีกทั้งยังเที่ยวแบบรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ด้วย

ไหนๆ ก็จะเที่ยวแบบกรีนอยู่แล้ว เราเลยขอคว้ากระติกน้ำ สะพายกระเป๋าผ้า และสวมหน้ากากผ้าแบบ Reusable จะได้ช่วยลดการใช้พลาสติกและลดขยะระหว่างวันแบบจัดเต็ม

ถ้าพร้อมแล้ว… เราขอชวนทุกคนกระโดดขึ้นรถไฟฟ้า BTS ตรงไปยังสถานีราชเทวีด้วยกันตอนนี้เลย!

สวนเฉลิมหล้า : โลเคชันสตรีทอาร์ตที่สร้างสรรค์
และสร้างแรงบันดาลใจให้คนทุกกลุ่ม

ในเช้าวันหยุดที่เราไม่อยากให้ชีวิตสตาร์ทแบบหนืดๆ เลยต้องหาเรื่องออกไปยืดเส้นยืดสาย พร้อมชมเส้นสายลวดลายศิลปะไปด้วย เพื่อบูสต์สุนทรียะให้ชีวิตที่ติดจอและติดในห้องสี่เหลี่ยมมานาน 

สวนเฉลิมหล้า สวนสาธารณะแห่งราชเทวีจึงเด่นหราเป็นรายการแรกบนลิสต์เช้านี้ เดินมาจากรถไฟฟ้า BTS ประมาณ 3 นาที เราก็สะดุดตากับพื้นที่สาธารณะแห่งนี้มาแต่ไกล เพราะมันโอบล้อมไปด้วยผลงานศิลปะกราฟฟิตี้สีฉูดฉาด เรียกชีวิตชีวาให้เรากระปรี้กระเปร่า 

สวนแห่งนี้ที่ถูกโอบกอดด้วยอาคารบ้านเรือนชาวราชเทวี คือพื้นที่อิสระที่เปิดให้ศิลปินและนักออกแบบแสดงตัวตนและไอเดีย ผ่านการทำกราฟฟิตี้อยู่แล้ว ทำให้ผลงานที่ทับซ้อนกันอยู่มีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน ทั้งภาพวาดรูปคน ภาพวาดการ์ตูน ไปจนถึงตัวอักษรดีไซน์เท่ ทำให้เราเห็นว่า ศิลปะก็กลมกลืนและเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนได้

มาถึงอีกไฮไลต์ที่คอบอลและคอมังงะ โดยเฉพาะแฟนกัปตันซึบาสะต้องส่งเสียงกรี๊ดรับ คือสนามฟุตซอลที่ตอนนี้ถูกเปลี่ยนให้เป็น ‘สนามกัปตันซึบาสะฮีโร่ชาวไทย’ ไม่ใช่แค่บนผนังเท่านั้นที่อวดภาพวาดลายเส้นเอกลักษณ์ แต่ทุกขณะที่คุณมาเตะลูกหนัง ภาพมังงะที่แผ่เต็มพื้นที่สนามก็เหมือนจะวิ่งไล่ทุกฝีเท้าของคุณเลยล่ะ

สนามฟุตซอลการ์ตูนญี่ปุ่นแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2564 ด้วยเจลีก ลีกฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศญี่ปุ่น ต้องการปรับปรุงสนามฟุตซอลใจกลางกรุงเทพฯ และออกแบบงานศิลปะร่วมกับนักวาดการ์ตูนกัปตันซึบาสะ ให้วาดเป็นรูปนักเตะชื่อคุ้นอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีราทร บุญมาทัน และสิทธิโชค ภาโส สามนักฟุตบอลไทยที่ไปเล่นให้เจลีกในเวลานี้ ซึ่งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทยอีกหลายคนที่อยากเดินตามรอยฮีโร่ในดวงใจอีกด้วย

ในขณะที่ทีมเยือนอย่างเรากำลังจะลาสนามนี้ เหมือนจะเป็นโชคดีของวันนี้ที่ เซ้ง เจ้าของร้านกาแฟซึ่งอยู่ติดสวนเฉลิมหล้าเดินแวะมาดูพอดี บทสนทนาเล็กๆ ในสนามขนาดกะทัดรัดกับเจ้าของธุรกิจไซซ์น่ารักๆ จึงเกิด 

เซ้งเล่าให้ฟังว่า ปกติช่วงเย็นจะมีผู้คนและเด็กๆ มาเตะฟุตบอล เล่นตะกร้อ และออกกำลังกายในสนามแห่งนี้อยู่แล้ว หลังจากสนามฟุตซอลถูกแปลงโฉมให้เป็นภาพวาดการ์ตูนกัปตันซึบาสะ ก็มีคนแวะเวียนมาถ่ายรูปกับสนามแห่งนี้อยู่เรื่อยๆ ทั้งแฟนการ์ตูนและแฟนฟุตบอล 

“บางคนตั้งใจสวมชุดฟุตบอลมาถ่ายรูปโดยเฉพาะ ส่วนบางคนก็ถึงกับปีนขึ้นไปนั่งบนโกลฟุตบอล จะได้ถ่ายรูปกับภาพวาดใกล้มากขึ้น” นอกจากเราที่ตื่นเต้นและยิ้มรับ ดูแล้วทีมเหย้าอย่างเขาที่เป็นผู้เล่าก็ตื่นเต้นกับความมีชีวิตชีวาของสวนน้อยแห่งราชเทวีเหมือนกันนะ 

สวนเฉลิมหล้า
ที่ตั้ง : t.ly/XA63
เวลาเปิด-ปิด : 5.30 – 19.00 น. (เปิดทุกวัน)

Studio Persona : อาร์ตสตูดิโอที่ใช้ศิลปะเป็น ‘โอเอซิสทางใจ’ สำหรับคนเมือง

หลังจากเดินดูกราฟฟิตี้ในพื้นที่กลางแจ้งอยู่พักใหญ่ เราเลยขอหลบอากาศร้อนอบอ้าวมาพักผ่อนกายและใจในอีกมุมหนึ่งของย่านราชเทวีที่ Studio Persona อีกมิติของศิลปะที่ช่างเหมาะกับคนเมืองยุคนี้ในช่วงเวลานี้เสียเหลือเกิน เพราะสตูดิโอศิลปะใจกลางเมืองแห่งนี้ใช้งานสร้างสรรค์เป็น ‘สื่อกลาง’ และ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับทุกคนที่ต้องการสำรวจ เรียนรู้ และดูแลจิตใจของตัวเอง

เมื่อเดินเข้าไปใน Studio Persona เราเหมือนหลุดไปอีกโลกหนึ่ง เพราะข้างในออกแบบให้เป็นสไตล์ลอฟต์กึ่งมินิมอล ทำให้พื้นที่ดูโปร่ง โล่ง และสบาย ส่วนบริเวณรอบๆ ยังตกแต่งด้วยโปสเตอร์ศิลปะ ภาพวาด และงานแฮนด์เมด สะท้อนแนวคิดของสตูดิโอที่ให้คุณค่าและความสำคัญกับศิลปะหลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญ เขายังติดกระจกบานใหญ่ไว้รอบด้าน แสงธรรมชาติที่สาดส่องเข้ามาจึงช่วยให้พื้นที่ศิลปะแห่งนี้ดูอบอุ่นไม่เบา

ใจกลางของ Studio Persona ถูกแบ่งออกเป็น 3 สตูดิโอย่อย คือ Universe Studio, Moon Studio และ Sun Studio พร้อมรองรับเวิร์กช็อปศิลปะไม่จำกัดรูปแบบ ที่จะช่วยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกเพศทุกวัยได้สะท้อนตัวตน ปลดปล่อยพลังจินตนาการ และเยียวยาจิตใจของตัวเองผ่านกระบวนการศิลปะบำบัด เช่น การค้นหาตัวตนผ่านการวาดภาพสีน้ำ การจัดดอกไม้สะท้อนความคิดหรือสภาวะอารมณ์ ศิลปะการเคลื่อนไหวและโยคะ รวมไปถึงโปรแกรมศิลปะสำหรับคนทำงาน ที่ช่วยแก้ปัญหาความเครียด ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) และการขาดสมดุลระหว่างงานและชีวิต

กิจกรรมเวิร์กช็อปทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่มของ Studio Persona จึงไม่ใช่การใช้จินตนาการเพื่อทำงานสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังเป็นการใช้สื่อกลางอย่างศิลปะเพื่อส่งเสริมศักยภาพและหาพื้นที่ผ่อนคลายให้ตัวเองด้วย เหมาะกับคนเมืองที่ต้องการปลีกตัวจากชีวิตเร่งรีบและพัฒนาสุขภาพใจของตัวเองให้ดีขึ้น

ปัท–ปรัชญพร วรนันท์ ผู้ก่อตั้งและนักศิลปะบำบัดแห่ง Studio Persona อธิบายให้เราฟังว่า ส่วนตัวแล้วเธอเชื่อว่าศิลปะคือ ‘เครื่องมือ’ ที่อยู่ในรูปแบบ (Form) ของการสร้างสรรค์ การใช้จินตนาการ และการถ่ายทอดผ่านสี รูปทรง และลายเส้นต่างๆ คืออีกรูปแบบหนึ่งของการสะท้อนความคิด หรือแม้กระทั่งรูปแบบที่ช่วยให้เราผ่อนคลาย และตระหนักรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง การใช้ศิลปะสร้างสรรค์ผลงานจึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับชีวิตประจำวันของผู้คน ในฐานะผู้บุกเบิกอาร์ตสตูดิโอใจกลางเมือง ปัทตั้งใจสร้างที่นี่ให้เป็น ‘โอเอซิส’ หรือ ‘สถานที่แห่งความสุข’ ที่คอยหล่อเลี้ยงและปลอบประโลมคนเมือง

“ปัทอยากให้ Studio Persona เป็นโอเอซิสของคนเมืองที่มองหาพื้นที่ผ่อนคลายและทำกิจกรรมสร้างสรรค์ นอกเหนือจากกิจกรรมทั่วไปอย่างการเดินห้างฯ ดูหนัง และฟังเพลง ความตั้งใจหลักของปัทคือการทำให้สตูดิโอแห่งนี้เป็นคอมมูนิตี้อาร์ต โดยมีศิลปะเป็นสื่อกลางที่ทำให้ทุกคนได้เชื่อมโยงกัน สื่อสารกัน ใช้เวลาร่วมกัน ได้รู้จักคนใหม่ๆ และมีเวลาพักเบรกกับตัวเอง ที่สำคัญ ด้วยโลเคชันที่อยู่ใจกลางเมือง ปัทอยากให้ที่นี่เป็นสถานที่พักผ่อนอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนเมือง”

หลังจากรับพลังจากงานศิลป์และจินตนาการที่ลอยฟุ้งอยู่ทั่วสตูดิโอจนเต็มอิ่ม ก็ถึงเวลาที่เราต้องบอกลาโอเอซิสใจกลางเมืองเพื่อกลับสู่โลกความจริง ด้วยความหวังลึกๆ ว่าเราจะได้กลับมาเยียวยาจิตใจตัวเองกับ Studio Persona อีกครั้ง

Studio Persona
ที่ตั้ง : t.ly/8qKV
เวลาเปิด-ปิด : 10.00 – 18.00 น.
ติดตามเวิร์กช็อปของ Studio Persona ได้ที่ : t.ly/9FFs

บ้านครัว : ชุมชนมุสลิมจามเก่าแก่ใจกลางกรุงเทพมหานคร

วันนี้เรามาตามรอยและค้นหาศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ของราชเทวีทั้งที ก็ไม่พลาดแวะไปที่ ‘ชุมชนบ้านครัว’ เพื่อพูดคุยกับคนราชเทวีแท้ๆ ที่บรรพบุรุษของพวกเขาเข้ามาในไทยมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว 

บ้านครัวเป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ใจกลางเมืองหลวง ทอดตัวขนานข้างริมคลองแสนแสบใต้ ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของมหานคร ที่นี่มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากไม่มายประมาณ 3,000 คน โดยส่วนใหญ่คือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม จึงเป็นชุมชนมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร 

สำหรับคนที่คุ้นเคยคงจะพบว่าชุมชนละแวกนี้มีวัฒนธรรมมุสลิมแฝงตัวอยู่เต็มไปหมด สำหรับใครที่ยังไม่เคยคุ้นก็ขอชวนมาเดินทอดน่องไปด้วยกันเลยดีกว่า 

ถ้าพูดถึงที่มาของชุมชนบ้านครัวเราอาจจะต้องเท้าความกลับไปไกลอยู่เหมือนกัน บรรพบุรุษของคนที่นี่คือชาวมุสลิมเขมรหรือ ‘แขกจาม’ ที่อพยพมาจาก ‘อาณาจักรจาม’ แต่เดิมดินแดนตั้งอยู่ในประเทศเวียดนามและกัมพูชา ในอดีตคนบ้านครัวได้ร่วมรบในสมัยสงครามเก้าทัพ (พ.ศ. 2330) ในนาม ‘กองอาสาจาม’ ที่มีความสามารถเก่งกาจ จนช่วยสู้รบและชนะกองทัพพม่าได้สำเร็จ หลังจากนั้นได้รับพระราชทานปูนบำเหน็จความดีความชอบจากรัชกาลที่ 1 เป็นที่ดินบริเวณป่าไผ่ทุ่งพญาไท (ปทุมวัน-ราชเทวี) ริมคลองแสนแสบเพื่อตั้งครัวเรือนเมื่อ พ.ศ. 2330 ชุมชนแห่งนี้จึงอยู่คู่ประวัติศาสตร์ไทยมานานถึง 230 ปีแล้ว น้อยกว่ากรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรของเราเพียงห้าปีเท่านั้น

การเดินทางมาชุมชนบ้านครัวมีหลายวิธี ถ้าลงสถานีรถไฟฟ้า BTS ราชเทวี ต้องเดินลัดเลาะซอยและถนนของราชเทวีประมาณ 10 นาที หรือจะขึ้นเรือโดยสารคลองแสนแสบที่ ‘ท่าเรือสะพานหัวช้าง’ นั่งเพียงหนึ่งท่าเรือก็จะถึง ‘ท่าเรือเจริญผล’ และเดินเข้าชุมชนบ้านครัวได้ทันที

ผ้าไหมบ้านครัว : ตระกูลช่างทอผ้าไหมสุดท้ายของชุมชน

ใช้เวลาไม่นานเราก็มาหยุดอยู่ที่บ้านทรงโบราณในซอยเล็กๆ เพื่อพูดคุยกับ นิพนธ์ มนูทัศน์ ผู้สืบสานกิจการ ‘ผ้าไหมบ้านครัว’ ตระกูลช่างทอผ้าไหมสุดท้ายของชุมชนบ้านครัว

เมื่อเดินเข้าไปภายในบ้าน บรรยากาศและเฟอร์นิเจอร์ล้วนเป็นสไตล์วินเทจ ให้ความรู้สึกเหมือนไปบ้านคุณปู่คุณย่าสมัยเราเป็นเด็ก เมื่อมองเข้าไปหลังบ้านก็จะเห็นช่างกำลังทอผ้าอย่างใจจดใจจ่อ โดยระหว่างที่นิพนธ์ย้อนความหลังถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจให้เราฟังอยู่ที่โถงหน้าบ้าน เสียงกระตุกของกี่ทอผ้าก็ก้องมาราวกับบทเพลงที่บรรเลงอยู่เบื้องหลังตลอดการสนทนา

นิพนธ์เล่าว่า ชุมชนบ้านครัวทอผ้าด้วยมือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2430) บ้านส่วนใหญ่มีกี่ทอผ้าเป็นของตัวเองสำหรับทอผ้าใช้กันภายในครัวเรือน ทั้งทอผ้าไหมดิบ ผ้าขาวม้า และผ้าโสร่ง

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จิม ทอมป์สัน นักธุรกิจชาวอเมริกันได้เข้ามาในไทย และทำงานร่วมกับชุมชน ช่วยพัฒนาออกแบบลวดลายและสีสัน รวมไปถึงบุกเบิกอุตสาหกรรมผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกภายใต้แบรนด์ ‘จิม ทอมป์สัน’ ทำให้ชุมชนบ้านครัวเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมของแบรนด์ตั้งแต่นั้น จนกระทั่ง พ.ศ. 2510 จิม ทอมป์สัน หายสาบสูญที่ประเทศมาเลเซีย การสั่งซื้องานผ้าทอก็ลดลงเรื่อยๆ ทำให้วิถีการทอในชุมชนแห่งนี้ค่อยๆ หายไปตามยุคสมัยและกาลเวลา

ลักษณะเด่นของผ้าไหมบ้านครัวคือ มีเนื้อผ้าแน่นและเนียน เนื้อผ้าเรียบสม่ำเสมอกันทั้งผืน มีประกายเงางาม และสีผ้าไม่ตกระหว่างซัก ที่สำคัญ ทุกวันนี้ผ้าไหมทุกชิ้นยังคงเป็นการทอมือทุกผืน นิพนธ์ได้พัฒนาผ้าอย่างต่อเนื่องให้แตกต่างจากผ้าไหมทั่วไป จนเป็นที่มาของ ‘ผ้าไหมเหลืองสิรินธร’ ที่เนื้อผ้าบางเหมือนแก้วและสวยงามมาก

ราชเทวีในมุมของเราคือภาพเดียวกับเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยตึกสูงใหญ่ มีคาเฟ่เรียงรายทุกหัวมุมถนน และมีอาคารทันสมัยเป็นของคู่กัน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับในอดีต นิพนธ์ย้อนความให้ฟังว่า แต่ก่อนบ้านเรือนในชุมชนไม่ได้อยู่ติดกันเหมือนในปัจจุบัน แต่บ้านแต่ละหลังจะเป็นบ้านเรือนไทย ที่อยู่ห่างกันและมีทางเดินไม้เป็นของตัวเอง เป็นราชเทวีที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่อาจไม่เคยรู้มาก่อน 

“สมัยเป็นเด็กถ้าเดินผ่านริมคลองหรือนั่งเรือ เรามักจะได้ยินเสียงกระตุกกี่ทอผ้าจากบ้านเรือนในพื้นที่ไม่ขาดสาย ส่วนริมคลองก็มีคนล้างไหมและตากไหมไว้เป็นระเบียบ ถ้ามองมาจากมุมไกลๆ ก็จะเห็นเส้นไหมหลากสีเรียงกันอยู่ สวยงามมาก” นิพนธ์นึกถึงบรรยากาศสมัยเด็กที่หาไม่ได้แล้วในสมัยนี้

เมื่อเราถามถึงการเปลี่ยนแปลงของย่านราชเทวีจากคนที่เกิดและโตที่นี่ นิพนธ์ตอบเสียงดังฟังชัดว่า ‘ราชเทวีเปลี่ยนไปมาก’ 

“ความทรงจำที่เด่นชัดต่อย่านนี้ก็คือ ‘วงเวียนน้ำพุราชเทวี’ ที่มีน้ำพุตั้งอยู่ตรงกลาง ใครมาเยือนแถวนี้ก็ต้องขับรถไปวนดูน้ำพุราชเทวี ต่อมาวงเวียนถูกรื้อถอนและเปลี่ยนเป็นสี่แยก ตอนนี้น้ำพุเลยถูกย้ายไปตั้งไว้ที่ทั้งสี่มุมของทางแยก” เป็นเรื่องราวจากคนในพื้นที่แท้ๆ ที่คนรุ่นใหม่อย่างเราทำได้แค่นึกภาพตาม

นิพนธ์พาเราสำรวจโรงทอผ้าของเขาที่คงความดั้งเดิมไว้เกือบทั้งหมด และหยิบผ้าไหมลายเกล็ดเต่าและผ้าลายฟูกลวดลายแปลกตาและมีสีมันวาวให้เราดู เมื่อมองใกล้ๆ ก็จะเห็นผ้าลายโบราณเนื้อเนียนสวย ซึ่งนิพนธ์ย้ำว่าเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของผ้าไหมชุมชนบ้านครัวแท้ๆ

ผ้าไหมบ้านครัวจึงเป็นมรดกทางภูมิปัญญาหนึ่งเดียวของชุมชนบ้านครัวที่ยังหลงเหลืออยู่ และนอกจากเป็นที่ต้องการและยอมรับของคนไทยแล้ว ต้องบอกว่าผ้าไหมของนิพนธ์นี่ระดับโกอินเตอร์ 

“นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่มาเยือนบ้านครัวล้วนมาตามรอยและถามหา Nipon’s Factory (โรงทอผ้าไหมของนิพนธ์)” นิพนธ์เล่าอย่างอารมณ์ดี

ผ้าไหมบ้านครัว
ที่ตั้ง : t.ly/2Qa3
เวลาเปิด-ปิด : 9.00 – 17.00 น.
รายละเอียด : phamaibaankrua.com

มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ : ศาสนสถานของชาวมุสลิมแห่งแรกของฝั่งพระนคร

หลังจากบอกลาผู้สืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาของแขกจามอย่างอบอุ่น เราใช้เวลาช่วงบ่ายแก่ๆ เดินลัดเลาะริมคลองและเส้นทางเล็กๆ ที่วกวนเหมือนเขาวงกตของชุมชนบ้านครัว โดยมีเจ้าหน้าที่จาก ‘กลุ่มออมทรัพย์พัฒนาชุมชนบ้านครัว’ อาสาเป็นไกด์นำทางให้เรา

นี่เป็นครั้งแรกที่เรามีโอกาสได้เดินสำรวจชุมชนในกรุงเทพฯ แบบจริงจัง อากาศวันนี้ออกจะอบอ้าว ใครมาช่วงหน้าร้อนแบบนี้อย่าลืมพกกระบอกน้ำดื่ม ผ้าเช็ดหน้า หรือจะเดินถือพัดลมพกพาเลยก็ได้ 

เมื่อเดินผ่านริมคลองและเดินเลี้ยวเข้าไปในชุมชน จะพบว่าเส้นทางค่อนข้างแคบ ใครจะมาเดินสำรวจ เราแนะนำว่าให้สอบถามเส้นทางจากคนในพื้นที่หรือชวนเพื่อนมาด้วย จะได้ไร้กังวลหากหลงทาง 

เจ้าหน้าที่บอกเราว่า ก่อนหน้านี้ชุมชนเคยจัด Walk Tour พาผู้ที่สนใจเดินชมวิถีชุมชน ชมบ้านเก่าอายุกว่า 230 ปี และชมผ้าไหมบ้านครัว แต่ช่วงนี้ต้องหยุดไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 ในอนาคตใครสนใจสมัครติดตามข้อมูลได้ที่ ตลาดนัดบ้านครัว

นอกจากใบไม้ เกร็ดความรู้ที่เราไม่เคยได้ยินหล่นโปรยปรายระหว่างทาง ทั้งจุดเปลี่ยนสำคัญของชุมชนหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ ที่ทำให้บ้านเรือนเสียหายหลายหลัง รวมไปถึงโครงการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้น่าอยู่อาศัยมากขึ้น เห็นได้จากบางเส้นทางที่ถูกขยายให้กว้างขึ้น และบ้านเรือนหลายหลังที่ได้รับการทาสีใหม่ทั้งหมด

ใช้เวลาประมาณ 10 นาที เราก็เห็นมัสยิดสีเขียวที่มีโดมสีทองโดดเด่นมาแต่ไกล ที่นี่คือ ‘มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์’ มัสยิดแห่งแรกของฝั่งพระนครและหลังแรกของชุมชนบ้านครัวที่รอต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตร ก่อนเข้าสุเหร่าเราต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเคร่งครัด ทั้งล้างมือด้วยแอลกอฮอล์และตรวจวัดอุณหภูมิให้เรียบร้อย

บรรยากาศภายในศาสนสถานค่อนข้างเงียบสงบและมีผู้คนบางตา นิรันดร์ วิจิตรตระการสม เลขานุการมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ อธิบายให้ชาวพุทธอย่างเราเข้าใจว่า มัสยิดมีความหมายว่า ‘บ้านของพระผู้เป็นเจ้า’ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของทุกอย่างที่เป็นสิริมงคล ทั้งการประกอบศาสนกิจ การละหมาดวันละ 5 เวลา การฟังเทศน์ การเรียนการสอน และการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของชาวมุสลิมทุกช่วงเวลา ทุกพิธีกรรมของชาวมุสลิมในชุมชนตั้งแต่เกิดจนตายล้วนเกิดขึ้นที่นี่

นิรันดร์ชี้ให้เราดู ‘โคมไฟสีเขียว’ บริเวณเหนือ ‘มิมบัร’ หรือแท่นแสดงธรรมของอิหม่าม ที่รัชกาลที่ 2 พระราชทานให้เนื่องในโอกาสที่เป็นมัสยิดไม่กี่แห่งของกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นว่ามัสยิดแห่งนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และหล่อเลี้ยงชุมชนบ้านครัวมาอย่างยาวนาน

บริเวณโถงมัสยิดยังคงรักษาสถาปัตยกรรมเก่าแก่ไว้ ส่วนการออกแบบและการตกแต่งเน้นใช้ ‘สีเขียว’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนบีมูฮัมหมัด ศาสดาองค์สุดท้ายของศาสนาอิสลาม ปกติชาวมุสลิมเข้ามาละหมาดหรือร่วมพิธีกรรมทางศาสนาเต็มพื้นที่ แต่ปัจจุบันมัสยิดต้องติดสติกเกอร์รักษาระยะห่างทางสังคมทั่วบริเวณ เพื่อให้ศาสนกิจยังคงดำเนินการได้อย่างปลอดภัย

สุดท้าย นิรันดร์ได้พาเรามาที่ ‘กุโบร์’ หรือ ‘สุสานของชาวมุสลิม’ อยู่ติดกับมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ พร้อมเปรียบเปรยว่า กุโบร์เปรียบเสมือน ‘ปอดใหญ่ของชุมชน’ เพราะสุสานมีส่วนช่วยทำให้อากาศบริสุทธิ์ ปัจจัยหนึ่งมาจากหลักการของอิสลามที่ห้ามจุดไฟในสุสานเช่นจุดไฟเพื่อเผาขยะ รวมไปถึงการจัดการศพของศาสนาโดยการฝัง ทำให้ศพกลายเป็นปุ๋ยที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดต้นไม้และผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ เป็นระบบนิเวศที่ทำให้บริเวณสุสานสวยงาม ร่มรื่น และมีอากาศปลอดโปร่ง สุสานแห่งนี้จึงไม่ต่างจากพื้นที่สีเขียวสงบเงียบ ที่กลายเป็นจุดพักผ่อนของผู้คนไปในตัว

มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์จึงเปรียบเสมือนแลนด์มาร์กทางประวัติศาสตร์ศาสนาอิสลามของกรุงเทพมหานคร ที่นอกจากจะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวมุสลิมในพื้นที่แล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงและสะท้อนวิถีชีวิตของชุมชนบ้านครัวมาเนิ่นนานจวบจนปัจจุบัน

“คนสมัยก่อนจะยึดติด ไม่ให้คนต่างศาสนาเข้ามาในมัสยิด แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น แม้ว่าหลักการของมัสยิดจะเป็นการกราบบูชาพระเจ้า แต่ศาสนสถานของอิสลามไม่ได้ปิดกั้นคนต่างศาสนิก ทุกคนมีสิทธิเข้ามาในมัสยิดเพื่อศึกษา เยี่ยมชม และซึมซับศาสนาอิสลาม บนพื้นฐานของข้อกำหนดและข้อควรปฏิบัติของสถานที่ ในยุคสมัยที่มีปัญหาการขาดศีลธรรมมากขึ้น เราอยากให้มัสยิดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้คนมีจิตใจสงบสุขขึ้น” 

นิรันดร์ทิ้งท้ายว่า มัสยิดพร้อมต้อนรับและยินดีให้ทุกคนเข้ามาเยี่ยมเยียน ซึ่งเรามั่นใจว่า ใครได้แวะมาที่มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์แห่งนี้ ทุกคนจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนในชุมชนบ้านครัว เหมือนที่เราได้สัมผัสและซึมซับในวันนี้อย่างแน่นอน

การลงพื้นที่สำรวจแหล่งศิลปวัฒนธรรมและชุมชนบ้านครัวแห่งย่านราชเทวีทำให้เรารู้ว่า ทุกคนสามารถเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและปลอดภัยได้ เพียงเคารพกฎของสถานที่ เคารพวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ และปฏิบัติตามมาตรการโรคระบาดเพื่อเซฟตัวเองและคนรอบตัว

มากไปกว่านั้น ทุกคนเองยังเปลี่ยนเป็นสายกรีนและร่วมกันใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ เริ่มต้นง่ายๆ เพียงใช้ถุงผ้าและกระบอกน้ำ แทนการใช้ถุงพลาติกหรือแก้วพลาสติก เพื่อลดขยะ รักษาทรัพยากร และอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม และมรดกทางประวัติศาสตร์และเมืองของเราให้คงอยู่นานเท่านาน

มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์
ที่ตั้ง: t.ly/5HxC
เวลาเปิด-ปิด : 4.30 –  20.00 น.
รายละเอียด : facebook.com/jamiulpage

Sources : 
Ali Suasaming | t.ly/9jBn
MGR Online | t.ly/1VCU
Matichon | t.ly/DwI7, t.ly/GlZs, t.ly/EIeQ
Phamaibaankrua | t.ly/69SP
The Standard | t.ly/Sar1

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.