ใครควรเป็น ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ปี 65 - Urban Creature

ใครควรเป็น ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ

จำนวนคนโหวต 0 คน
3 February 2022

ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว กระแสการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขตหลักสี่-จตุจักร คึกคักและฮือฮาสุดๆ บนโลกออนไลน์ 

ในด้านหนึ่ง มันสะท้อนว่า หลายคนรอคอยการเลือกตั้ง ในฐานะที่การลงคะแนนเสียงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยบริหารจัดการสังคมผ่านผู้แทนประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ไม่ต่างจากกระแสการรอเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ กรุงเทพฯ ที่ไม่มีการเลือกตั้งมาหลายปีมากๆ แล้ว ถ้านับแค่ช่วงดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ของ ‘อัศวิน ขวัญเมือง’ ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ก็กินเวลาถึงสี่ปีกว่าๆ ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลย 

ตั้งแต่ปลายปี 2564 ก็มีเสียงแว่วมาว่า จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2565 ตอนแรกมีทีท่าว่าจะได้เลือกต้นปีนี่แหละ จนตอนนี้ถึงมีประกาศว่า จะได้เลือกช่วงกลางปี ประมาณพฤษภาคม หรืออาจช้า-เร็วกว่านี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ในรัฐไทยที่เน้นความสะดวกของรัฐก่อนประชาชน

ถ้านับจากหน้าตาของแคนดิเดตที่กระโดดมาลงสังเวียนเลือกตั้ง ก็มีทั้งคนที่เราคุ้นหน้ากันมาก่อนแล้ว และมีผู้สมัครหน้าใหม่ก้าวเข้ามาด้วยส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สมัครในนามอิสระ, รสนา โตสิตระกูล สมัครในนามอิสระ, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล และ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต้องคอยดูในอนาคตอีกว่า จะมีใครลงสมัครอีกหรือเปล่า

ในเมื่อเรากำลังเข้าใกล้ฤดูกาลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มากขึ้นเรื่อยๆ Urban Creature เลยอยากจะชวนทุกคนมาซ้อมโหวตให้แคนดิเดตที่คุณเล็งเอาไว้ ผ่านการกดไลก์ กดแชร์ กดหัวใจสื่อรัก และคอมเมนต์ความรู้สึก คำถาม หรือคำแนะนำให้ผู้สมัครที่คุณเชียร์ได้รับรู้ ผ่านใต้โพสต์ภาพของแต่ละคน หรือจะกดโหวตบนเว็บไซต์ของเราอีกทางก็ได้ เพื่อสะท้อนว่า คนแบบไหนที่เราอยากให้เข้ามาบริหารจัดการ และแก้ไขให้กรุงเทพฯ สดใสมากกว่าที่เคยเป็นมา

01 รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ – ผู้สมัครนามอิสระ

นักการเมือง อาจารย์ นักวิชาการ วิศวกร อดีตตำนานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจ้าของฉายาบุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Better Bangkok ที่ลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ 

เมื่อปลายปีที่แล้ว Urban Creature เคยคุยกับเขาเรื่องการจัดการโควิดอย่างเข้มข้น ย้อนอ่านดูอีกครั้งได้ที่นี่เลย urbancreature.co/covid-crisis-chadchart-sittiphan

02 รสนา โตสิตระกูล – ผู้สมัครนามอิสระ

นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิสำหรับผู้บริโภค เคยมีประสบการณ์เป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ปี 2551 เคยเป็นประธาน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค รวมถึงตำแหน่งเลขาธิการ และกรรมการในองค์กรด้านการพัฒนาต่างๆ มากมาย

03 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร – พรรคก้าวไกล

นักการเมือง ที่เคยเป็น ส.ส. และโฆษกประจำพรรคก้าวไกล เป็นที่จดจำจากลีลาการอภิปรายด้วยความแซ่บ จนได้รับการขนานนามเป็นดาวสภา เคยทำงานเป็นวิศวกร และงานด้านการศึกษาและเยาวชนมาอย่างยาวนาน

04 ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ – พรรคประชาธิปัตย์ 

ตัวแทนจากพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ เคยเป็นวิศวกร และดำรงตำแหน่งกรรมาธิการมาหลายบริษัท แต่มาโด่งดังเอามากๆ ช่วงรับตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (2558 – 2564) ถ้าอยากรู้จักสุชัชวีร์ให้มากขึ้น ก็ถามความคิดเห็นนักศึกษา สจล. หลายๆ รุ่นได้อีกทาง

05 รอเลือกผู้สมัครคนอื่นๆ

แม้หลายๆ คนได้เห็นรายชื่อที่เปิดเผยว่า ใครจะลงสมัครเป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. บ้างแล้ว แต่ก็อาจมีบางคนรู้สึกว่า ตัวเลือกที่มียังไม่ถูกใจส้ากกกที นั่นเพราะประชาชนชาวกรุงบางส่วน กำลังรอคอยแคนดิเดตที่จะมาลงสมัครเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้ 

บางคนอาจเป็นแฟนคลับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอื่นๆ จึงเฝ้าหวังให้คนในพรรคนั้นๆ มาลงสนามเลือกตั้งบ้าง หรือบางคนอาจยัง Move on จาก ‘อัศวิน ขวัญเมือง’ ไม่ได้ เลยอยากจะให้เขาลงสมัครชิงตำแหน่งอีกสักครั้ง เพราะคลองโอ่งอ่างและคลองช่องนนทรีนั้นดีเป็นเลิศ ถูกใจฉันเสียจริ๊งงง 

06 คิดว่าจะไม่ออกไปเลือกผู้ว่าฯ

ทุกการเลือกตั้ง จะมีคนไม่ออกไปเลือกตั้งเสมอ ถ้าคุณตั้งใจไม่ออกไปเลือกตั้งก็กดโหวตตัวเลือกนี้ได้เลย

ส่วนพื้นที่ใต้ภาพนี้มีขึ้นมาเพื่อให้คุณแชร์ว่าทำไมถึงไม่อยากเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ทั้งที่ไม่มีการเลือกตั้งมานานมากๆ แล้ว เอาล่ะ ใครอยากจะระบาย หรือคอมเมนต์ ก็รัวคีย์บอร์ดกด Enter ไว้ใต้ภาพนี้ได้เต็มที่เลย

 

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.